กรมการขนส่งทางราง เร่งออกมาตรฐานการซ่อมบำรุงรถไฟสายประธาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบรางไทย ให้ความมั่นใจกับผู้ใช้บริการ

30 ส.ค. 66 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการศึกษา รวบรวมข้อมูล และจัดทำร่างมาตรฐานการซ่อมบำรุงรถไฟสายประธาน เพื่อนำเสนอภาพรวมและรายละเอียดของร่างมาตรฐานที่กรมได้จัดทำขึ้น พร้อมทั้งเป็นการรับฟังความคิดเห็น เพื่อนำไปปรับปรุงให้มาตรฐานมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยมีผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงระบบรางและการทดสอบวัสดุชิ้นส่วนระบบราง เข้าร่วมการประชุม ณ โรงแรมทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางได้ดําเนินโครงการศึกษา รวบรวมข้อมูล และจัดทําร่างมาตรฐานของรถไฟสายประธาน เพื่อจัดทําร่างมาตรฐานการซ่อมบํารุงรักษาของรถไฟ สายประธานในด้านโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา ด้านระบบจ่ายไฟฟ้า ด้านระบบอาณัติสัญญาณ ด้านรถขนส่งทางราง และด้านศูนย์ซ่อมบํารุง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางเป็นอย่างมาก ทั้งรถไฟฟ้าที่มีการเปิดให้บริการสายสีต่างๆ และรถไฟระหว่างเมือง (รถไฟสายประธาน) ก็เช่นกันที่มีการก่อสร้างเส้นทางต่างๆ มากมาย ทั้งทางคู่สายนครปฐม-ชุมพร สายลพบุรี-ปากน้ำโพ สายมาบกะเบา-ชุมทางจิระ หรือทางสายใหม่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม รวมถึงรถไฟทางคู่ระยะที่สองจำนวน 7 เส้นทางที่อยู่ระหว่างเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งเมื่อเส้นทางเหล่านี้แล้วเสร็จจะทำให้สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้ามากขึ้น ใช้เวลาในการเดินทางได้รวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องรอสับหลีก ซึ่งเมื่อมีการใช้บริการเดินรถที่มากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการสึกหรอของทั้งทางรถไฟและโครงสร้างพื้นฐาน ตัวรถขนส่งทางราง ชิ้นส่วนอุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากไม่มีหรือไม่ได้ตามมาตรฐานดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการขัดข้อง ชํารุดเสียหาย หรือการทํางานผิดพลาดของอุปกรณ์หรือระบบต่างๆ และก่อให้เกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่นละออง หรือไอของสารเคมี หรือเสียงรบกวน อีกทั้งยังทําให้มีการสิ้นเปลืองพลังงานเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ระบบรถไฟสายประธานจําเป็นต้องมีการซ่อมบํารุงตามมาตรฐาน เพื่อให้ระบบการขนส่งทางรางสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเพิ่มความปลอดภัยและความรู้สึกสบายให้กับประชาชน

ดร.พิเชฐฯ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ขร. มีการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลการซ่อมบำรุงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา ด้านระบบจ่ายไฟฟ้า ด้านระบบอาณัติสัญญาณ ด้านรถขนส่งทางราง ในศูนย์ซ่อมบํารุงตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รวมทั้งศูนย์ซ่อมบำรุงในส่วนภูมิภาค อาทิเช่น หน่วยซ่อมบำรุงพิษณุโลก ลำปาง สระบุรี นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช หาดใหญ่ เป็นต้น เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอน รายละเอียด รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งการลงพื้นที่แต่ละครั้ง ขร. ได้รับการต้อนรับและความร่วมมือในการให้ข้อมูลต่างๆ เป็นอย่างดีจาก รฟท.

ดร.พิเชฐฯ กล่าวต่อตอนท้ายว่า สำหรับโครงการศึกษาฯ มาตรฐานการซ่อมบํารุงรักษาของรถไฟสายประธานนี้ จะมีการแบ่งออกมาเป็นร่างมาตรฐาน 3 มาตรฐาน ประกอบไปด้วยมาตรฐานการซ่อมบำรุงอาณัติสัญญาณ มาตรฐานวิธีการตรวจวัดล้อรถไฟด้วยเครื่องมือ MR1-2246-1 และมาตรฐานการซ่อมบำรุงทาง ซึ่งมาตรฐานต่างๆนี้ จะเป็นส่วนช่วยในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการขัดข้อง การชํารุดเสียหายหรือการทํางานผิดพลาดของอุปกรณ์หรือระบบต่างๆ รวมถึงช่วยลดการเกิดมลภาวะแก่สิ่งแวดล้อมอีกด้วย นอกจากนั้น ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ทั่วประเทศ ขร. จะนำไปวิเคราะห์และเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการซ่อมบำรุงรถไฟสายประธาน ต่อกระทรวงคมนาคม (คค.) และ รฟท. ตามลำดับต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์