กรมการขนส่งทางรางจัดประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง ครั้งที่ 7-1/2566

วันที่ 25 มกราคม 2566 ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง โดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานกรรมการ นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธานกรรมการ และดร.ทยากร จันทรางศุ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง เป็นกรรมการและเลขานุการ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings เพื่อพิจารณา (ร่าง) มาตรฐานการขนส่งทางราง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1. มขร. – SC – 003 – 2566 (ร่าง) มาตรฐานระบบควบคุมอาณัติสัญญาณจากศูนย์กลางบนโครงข่ายสายประธาน โดยมาตรฐานฉบับนี้ จะนำไปใช้เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำ (minimum requirement) ในการควบคุมการเดินรถของรถไฟสายประธาน โดยการกำหนดเส้นทาง (route setting) ผ่านระบบอาณัติสัญญาณที่อยู่ข้างทางรถไฟ เพื่อให้พนักงานขับรถไฟสามารถเดินรถได้อย่างปลอดภัย ซึ่งมาตรฐานฯ ฉบับนี้ ระบุถึง ข้อกำหนดทั่วไป คุณสมบัติพื้นฐาน และฟังก์ชันการทำงาน การเชื่อมต่อระบบควบคุมอาณัติสัญญาณจากศูนย์กลาง (CTC) กับอุปกรณ์อาณัติสัญญาณของรถไฟตามสถานี (Local Station) มาตรฐานความปลอดภัยและการทดสอบระบบ โดยสามารถนำไปเป็นข้อกำหนดในการเลือกใช้ อุปกรณ์หลัก และ/หรืออุปกรณ์ย่อย ในระบบควบคุมอาณัติสัญญาณจากศูนย์กลางในระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟได้2. มขร. – E – 004 – 2566 (ร่าง) มาตรฐานระบบการควบคุม กำกับดูแล และเก็บข้อมูล (SCADA) ในระบบการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับบนโครงข่ายรถไฟสายประธาน ระบบการควบคุม กำกับดูแล และเก็บข้อมูล โดยมาตรฐานฉบับนี้ เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำ (minimum requirement) ในการควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ขับเคลื่อนรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทางรถไฟสายประธานและชานเมือง ซึ่งถือว่าเป็นระบบที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการตรวจสอบและควบคุมให้ระบบการจ่ายไฟฟ้ามีความน่าเชื่อถือ มีความมั่นคง และเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบดังกล่าว มีประโยชน์ในการทำให้การควบคุมระบบจ่ายไฟฟ้าเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสามารถติดตามข้อมูลการทำงานของระบบการจ่ายไฟฟ้า รวมถึงทำให้สามารถประเมินสถานการณ์เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบจ่ายไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วด้วย3. มขร. – R – 004 – 2566 (ร่าง) มาตรฐานระบบปรับอากาศรถขนส่งทางรางในเมืองและชานเมือง – การกำหนดปัจจัยความสบาย มาตรฐานฉบับนี้จะนำไปใช้กับรถขนส่งทางรางในเมือง (Urban) และชานเมือง (Suburban) ซึ่งมาตรฐานนี้กำหนดปัจจัยความสบาย (comfort parameters) ที่ประกอบไปด้วยอุณหภูมิ ความชื้นและความเร็วลมในขบวนรถ เพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกสบายในการใช้บริการรถขนส่งทางรางโดยที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) มาตรฐานการขนส่งทางราง ทั้ง 3 ฉบับ และให้นำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปพิจารณาบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์