Last updated: 26 ก.ย. 2565 | 1070 จำนวนผู้เข้าชม |
กรมการขนส่งทางราง
จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น
“โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม
และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ
(R-map) พื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมี ดร.พิเชฐ
คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง
เป็นประธานเปิดการสัมมนาฯ
โดยได้รับเกิยรติจากนางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ให้การต้อนรับ
และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
(หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) กล่าวขอบคุณผู้แทนภาครัฐ
ภาคเอกชน สมาคมผู้ประกอบการ
ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนา
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์
อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง
ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐานระดับสากล
และเสนอแนะนโยบาย
ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางรางของประเทศ
รวมถึงแผนการพัฒนาด้านการขนส่งทางราง
ศึกษาและพัฒนาเพื่อกำหนดโครงข่ายการขนส่งทางราง
จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม
และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ
เพื่อทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ
การท่องเที่ยวและการพัฒนาพื้นที่
และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม
และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ
และรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ
โดยจะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายเดิมกับแหล่งเกษตรกรรม
แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และประเทศเพื่อนบ้าน
รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค
ทั้งในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รูปแบบต่าง
ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส
การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัด และภูมิภาค
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับจังหวัดหนองบัวลำภู
เป็นจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวเส้นทางโครงการรถไฟทางคู่และโครงการรถไฟความเร็วสูง
ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย
โดยที่สามารถจะวางแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟต่อไปยังจุดผ่านแดนถาวร
สะพานมิตรภาพน้ำเหือง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย
ซึ่งเป็นด่านพรมแดนระหว่างไทย-สปป.ลาว
ที่สามารถเชื่อมต่อกับทางหลวงหมายเลข 4 ของสปป.ลาว
ในแขวงไชยบุรี โดยสามารถเดินทางต่อไปยังเมืองแก่นท้าว
และเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเป็นประตูการค้าและการท่องเที่ยว
ทั้งใน สปป.ลาว ที่สามารถเชื่อมต่อไปยังเวียดนามและจีนได้
โดยเส้นทางรถไฟสายใหม่ จัตุรัส - ชัยภูมิ - หนองบัวลำภู –
เลย มีระยะทาง 333 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด
เริ่มต้นที่ สถานีจัตุรัส จ.ชัยภูมิ ผ่าน จ.ขอนแก่น
จ.หนองบัวลำภู และสถานีเมืองเลย จ.เลย
เป็นสถานีปลายทาง
นอกจากนี้ในเวทีสัมนาได้มีข้อเสนอให้มีการเชื่อมเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจังหวัดอุดรธานีถึงจังหวัดหนองบัวลำภู
เนื่องจากเป็นระยะทางที่สั้นประมาณ 100 กิโลเมตร
ส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการพัฒนาขึ้น
นอกจากนี้จังหวัดหนองบัวลำภูมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง
สามารถดำเนินการเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากจังหวัดอุดรธานี
และเป็นประโยชน์ต่อในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของจังหวัดได้
ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดต่อไป
ทางด้านนายสรพงศ์
ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
(หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม
โดยท่านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
มีความมุ่งมั่น
เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
อย่างเป็นรูปธรรม
โดยจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นจังหวัดที่มีศักภาพการท่องเที่ยวสูง
แต่มีการเชื่อมต่อกับพื้นที่เมืองหลักน้อย ส่งผลให้ มี GPP
ของจังหวัดต่ำเมื่อเทียบกับจังหวัดข้างเคียงอย่างจังหวัดอุดรธานีที่
GPP ในระดับสูง
ดังนั้นจึงมีแนวคิดให้พื้นที่จังหวัดข้างเคียงให้มีศักยภาพในด้าน
GPP เฉลี่ยใกล้เคียงกัน
จากการพัฒนาการเชื่อมต่อด้านการคมนาคมและการท่องเที่ยว
และเนื่องจากจังหวัดหนองบัวลำภูอยู่ในระยะการเข้าถึงท่าอากาศยานของจังหวัดข้างเคียง
2 จังหวัดคือจังหวัดอุดรธานี
และจังหวัดเลย
ดังนั้นจึงต้องพิจารณาถึงการเชื่อมโยงด้านอื่น
อย่างการพัฒนาถนนทางหลวงหมายเลข 210 ที่ได้ดำเนินการแล้ว
กำลังพิจารณาถึงการพัฒนาระบบรางที่เชื่อมต่อถึงจังหวัดหนองบัวลำภูเพิ่มเติม
รวมถึงจากแผนการพัฒนาพื้นที่พืชสวนโลกในอีก 7 ปีข้างหน้า
(พ.ศ. 2569-2570)
และศักยภาพของนิคมอุสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี
จังหวัดหนองบัวลำภูสามารถดำเนินการพัฒนาและเติบโตควบคู่กันไปได้
นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์
ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่า
จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดขนาดเล็กมีประชากรประมาณ
509,000 คน เนื้อที่ประมาณ 3,800 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ
2.4 ล้านไร่ อาชีพหลักของชาวจังหวัดหนองบัวลำภู
เป็นอาชีพเกษตรกรรม
นอกจากนี้เป็นจังหวัดที่มีจุดเด่นด้านภูมิปัญญา วัฒนธรรม
สิ่งแวดล้อม และธรรมมะ
และจากภูมิประเทศที่เป็นทั้งโอกาศและข้อจำกัดที่โดนล้อมด้วยจังหวัดใหญ่
อย่างจังหวัดอุดรธานี จังหวัดเลย จังหวัดขอนแก่น
ส่งผลให้มีการเชื่อมโยงกับจังหวัดใหญ่ที่มีศักยภาพการท่องเที่ยวมากเป็นระดับประเทศ
ดังนั้นจังหวัดหนองบัวลำภูต้องดึงโอกาศดังกล่าวมีเป็นเป้าหมายในการพัฒนา
โดยเน้นให้เป็น “เมืองน่าอยู่ และเมืองน่าเที่ยว”
จากการเป็นเมืองสะอาด เมืองที่สะดวกต่อการเข้าถึง
และเป็นเมืองที่สงบปลอดภัย นอกจากนี้ด้านการท่องเที่ยว
พยายามเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวจากด้านธรรมมะ
ด้านธรรมชาติ ด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ในปี 2569-2570
จังหวัดอุดรธานีจะมีพืชสวนโลกทางจังหวัดหนองบัวลำภูจึงมีการพัฒนาต่อยอดต้นทุนจากด้านการเกษตรกรรมควบคู่กัน
นอกจากนี้เรื่องเส้นทางคมนาคมการพัฒนาการเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งจังหวัดหนองบัวลำภูมีแค่การขนส่งทางถนนจากทางหลวงหมายเลข
210 เป็นเส้นทางหลักถึงจังหวัดอุดรธานี
ส่งผลให้มีการเสนอแผนให้เชื่อมโยงเส้นทางรถไฟจากอุจังหวัดอุดรธานีถึงจังหวัดหนองบัวลำภู
เพื่อเป็นโอกาสการเชื่อมโยงการคมนาคมของจังหวัดหนองบัวลำภูต่อไป