ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือความคืบหน้าการพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าโดยสารให้รองรับตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมกันในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายของรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยผู้โดยสารสามารถเดินทางในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงด้วยค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย (ตั้งแต่สถานีตลิ่งชัน – สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต) ต่อ 1 เที่ยวการเดินทาง สำหรับผู้โดยสารบุคคลทั่วไปที่เดินทางระยะสั้นที่มีมูลค่าเดินทางไม่ถึง 20 บาท ให้จัดเก็บตามจริงในอัตราเดิม และในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้ดำเนินงานตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสารของรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารสายสีม่วง จากปัจจุบัน 14 – 42 บาท เป็นสูงสุดไม่เกิน 20 บาท กรณีที่อัตราค่าโดยสารปัจจุบันต่ำกว่า 20 บาท เช่น 14 บาท หรือ 17 บาท ให้จัดเก็บตามจริงในอัตราเดิม โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนจะดำเนินการนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรถไฟชานเมือง สายสีแดง และสายสีม่วง ให้สามารถเปิดใช้บริการได้จริงในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 และในด้านการเตรียมความพร้อมระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร บมจ. ธนาคารกรุงไทย จะพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าโดยสารผ่านมาตรฐาน EMV Contactless ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลเพื่อรองรับการเดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ให้พร้อมสำหรับการดำเนินงานตามนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในระบบขนส่งทางรางต่าง ๆ ได้แก่ แนวทางการป้องกันอุบัติการณ์ จากกรณีแผ่นบัวตกแต่งขอบทางวิ่งรถไฟฟ้าร่วงบริเวณสี่แยกสาทร – นราธิวาสฯ โดยที่ประชุมมอบหมายให้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ตรวจสอบตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า หากพบว่าวัสดุเสื่อมสภาพ ให้ดำเนินการเปลี่ยนทดแทน โดยวัสดุใหม่ที่ทำการติดตั้ง ให้คำนึงถึงความคงทน และอายุการใช้งาน และต้องมีแผนงานในการเปลี่ยนตามอายุ พร้อมทั้งให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงอย่างสม่ำเสมอตลอดการใช้งาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ซึ่ง BTSC ได้ดำเนินการถอดแผ่นบัวตกแต่ง 119 แผ่น เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ พบว่า อาจเกิดจากความผิดพลาดในกระบวนการผลิตแผ่นบัวตกแต่งที่ร่วง เนื่องจากแผ่นบัวตกแต่งแผ่นอื่นยังอยู่ในสภาพดี และปัจจุบัน BTSC ได้มีแผนดำเนินการถอดแผ่นบัวตกแต่งขอบทางวิ่งทั้งหมด 23 สถานี โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณต้นปีหน้า
ทั้งนี้ในส่วนของสถิติเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่าเดือนสิงหาคมเกิดเหตุขัดข้อง 4 ครั้ง และเดือนกันยายน 2566 13 ครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางรางและหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางได้ถอดบทเรียนเพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขัดข้องซ้ำ 4 กรณี ได้แก่ 1) รถไฟฟ้าสายสีทองจุดสับรางขัดข้องบ่อยครั้ง 2) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ประแจสับรางขัดข้อง ทำให้ล่าช้า 3) ประตูรถไฟฟ้าสายสีเขียวขัดข้อง และเดินรถขณะเปิดประตู 4) รถไฟฟ้าสายสีเขียว (สุขุมวิท) ขัดข้อง ณ สถานีห้าแยกลาดพร้าว (N9) เนื่องจากสถานการณ์ฝนตก เป็นต้น
สำหรับประเด็นท้ายสุดในการประชุมได้มีการพิจารณาข้อเสนอของกรมการขนส่งทางรางในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางราง ระหว่าง ICD ลาดกระบังและ SRTO แหลมฉบัง จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าเส้นทางดังกล่าว พบความล่าช้าบ่อยครั้งเนื่องจากความหนาแน่นของขบวนรถไฟ ประกอบกับระเบียบของการรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดให้สามารถเดินรถในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ทีละขบวน โดยที่ประชุมมีมติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยแก้ไขกฎระเบียบให้สามารถเดินรถทีละหลายขบวนได้ และให้พิจารณาจูงใจคนขับรถไฟเพื่อเพิ่มคนขับในพื้นที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งให้กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยต่อไป
หน่วยงานที่ประกาศ
กลุ่มประชาสัมพันธ์