กรมการขนส่งทางรางหารือผู้ให้บริการระบบราง พร้อมติดตามกรณีระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง

กรมการขนส่งทางรางหารือผู้ให้บริการระบบราง พร้อมติดตามกรณีระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต) และติดตามความคืบหน้าการดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติเหตุกรณีล้อประคองรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง หลุดร่วง เพื่อให้มีมาตรการความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการให้บริการระบบขนส่งทางราง

วันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2568) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการระบบรางที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมฯ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง รวมทั้งแนวทางการปรับปรุงและแก้ไขปัญหา โดยมีประเด็นหารือที่สำคัญ ดังนี้

สถิติเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 – มกราคม 2568 รวม 14 ครั้ง ประกอบด้วย ระบบขับเคลื่อน 1 ครั้ง ระบบเบรค 4 ครั้ง ระบบประตูรถ 4 ครั้ง ระบบจ่ายไฟฟ้า 1 ครั้ง จุดสับราง 2 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง และอื่น ๆ 1 ครั้ง ซึ่งกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ประสานผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเพื่อหาสาเหตุของการขัดข้อง และร่วมกันหาแนวทางการป้องกันเพื่อลดจำนวนเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการรายงานผลการติดตามกรณีระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง ของรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรังสิต) โดย ขร. ได้ติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานผู้ให้บริการ และติดตามแนวทางการป้องกันเหตุขัดข้องดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานผู้ให้บริการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลา และเน้นย้ำให้หน่วยงานผู้ให้บริการดำเนินการป้องกันสาเหตุของเหตุขัดข้องดังกล่าวด้วย

รวมถึง ที่ประชุมฯ ได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินมาตรการป้องกันอุบัติเหตุกรณีล้อประคองรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง หลุดร่วง โดย ขร. ได้มีหนังสือ ถึง กระทรวงคมนาคม เพื่อมอบหมายหน่วยงานให้บริการที่เกี่ยวข้องรับแนวทางการป้องกันอุบัติเหตุดังกล่าวไม่ให้เกิดซ้ำอีกไปพิจารณาการดำเนินการ และผู้ให้บริการได้เริ่มดำเนินการติดตั้งล้อที่ออกแบบใหม่ของรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ขบวน YM14 และรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ขบวน PM14 เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2567 โดยมีการทดสอบการวิ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือ ประมาณ 30,000 กิโลเมตร และดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือนมกราคม 2568 จากผลการตรวจอุณหภูมิของชุดล้อประคองขณะวิ่งให้บริการอยู่ที่ 47 – 52 °C โดยอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและยังไม่พบความผิดปกติจากการทดสอบ ทั้งนี้ วิศวกรของผู้ผลิตจะนำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์เพิ่มเติม หากพบว่าไม่มีความเสี่ยงใด ๆ จะดำเนินการเปลี่ยนชุดล้อประคองของรถไฟฟ้าโมโนเรลทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในปี 2568

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ กล่าวปิดท้ายว่า ขร. ได้ดำเนินการตามนโยบายลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 “งดจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางราง” เพื่อส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 โดยจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว พบว่า เมื่อเปรียบเทียบปริมาณผู้โดยสาร 7 วันย้อนหลัง ระหว่างวันที่ 18 – 24 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นฐานข้อมูลในการประมาณการค่าใช้จ่าย หรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินมาตรการฯ มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวน 2,196,798 คน – เที่ยว/วัน (มากกว่าก่อนมาตรการจำนวน 712,873 คน – เที่ยว/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.04) โดยมีผลการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยวันหยุดและวันทำการ ดังนี้

1. ค่าเฉลี่ยวันหยุด (25 – 26 มกราคม 2568) มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวน 2,027,723 คน – เที่ยว/วัน (มากกว่าค่าเฉลี่ยจำนวน 935,317 คน – เที่ยว/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.62) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของวันหยุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 19 มกราคม 2568)

2. ค่าเฉลี่ยวันทำการ (27 – 31 มกราคม 2568) มีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวน 2,264,429 คน – เที่ยว/วัน (มากกว่าค่าเฉลี่ยจำนวน 623,895 คน -เที่ยว/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.03) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยวันทำการในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 มกราคม 2568)

โดยจะเห็นได้ว่า การดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐเพื่อเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัย สะอาด ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะช่วยลดภาวะมลพิษ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งการดำเนินมาตรการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนเป็นอย่างดี โดยเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทางรางได้เตรียมความพร้อมการให้บริการระบบราง เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์

Skip to content