วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานการตรวจสภาพรถขนส่งทางรางของผู้ตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางราง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาของโครงการฯ พร้อมทั้งรับฟังความเห็นจากผู้แทนของหน่วยงานผู้ให้บริการเดินรถขนส่งทางราง (Operator) บริษัทผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายรถขนส่งทางราง (Manufacturer/supplier) หน่วยงานทดสอบผลิตภัณฑ์(Certified Body) วิศวกรที่ปรึกษาอิสระด้านระบบราง (ICE) องค์กรวิชาชีพ ที่เข้าร่วมสัมมนาฯ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท รวมทั้งผ่านช่องทาง Facebook Live @DRT.OfficialFanpage
นายพิเชฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศึกษาจัดทำมาตรฐานการตรวจสภาพรถขนส่งทางรางของผู้ตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางราง ได้มีการดำเนินการรวบรวม ศึกษาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางราง รวมถึงมาตรฐาน วิธีการ และข้อกำหนดทางเทคนิคในการทดสอบที่ใช้ในการตรวจสภาพรถขนส่งทางรางทั้งในและต่างประเทศ แล้วนำมาจัดทำเป็น (ร่าง) มาตรฐานการตรวจสภาพรถขนส่งทางราง และ (ร่าง) แนวทางการกำกับดูแล กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางราง พร้อมทั้งจัดทำ (ร่าง) หลักสูตรการฝึกอบรมของผู้ตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางราง
โดยการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้มีการกำหนดให้รถขนส่งทางรางที่นำมาจดทะเบียนจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองจากกรมการขนส่งทางราง ทั้งนี้ การรับรองดังกล่าวกรมการขนส่งทางรางอาจมอบหมายให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดหรือผู้ได้รับใบรับรองจากกรมการขนส่งทางรางเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองได้
นายพิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีรถขนส่งทางรางจำนวนมากถึงประมาณ 7,000 คัน แบ่งเป็น หัวรถจักร 280 คัน ตู้โดยสารสำหรับรถไฟทางไกล 1,300 คัน รถดีเซลราง 250 คัน รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 1,100 คัน และรถสินค้าอีกมากกว่า 4,000 คัน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งประเภทและคุณลักษณะ รวมทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางรางก่อนนำมาใช้งานบนรางจึงมีความสำคัญในแง่ของความปลอดภัยและส่งผลไปถึงคุณภาพในการให้บริการอีกด้วย
นายพิเชฐฯ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมาได้มีการรวบรวมศึกษาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบมาตรฐานวิธีการและข้อกำหนดทางเทคนิคในการตรวจสภาพรถขนส่งทางรางทั้งในและต่างประเทศ เช่น IEC 61133 BS/EN 50215 JIS E 4041 และการดำเนินการของผู้ให้บริการในปัจจุบัน เพื่อให้ได้มาซึ่งมาตรฐานและวิธีการตรวจสภาพรถขนส่งทางราง แนวทางการกำกับดูแลกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับผู้ตรวจสอบและรับรองรถขนส่งทางรางของประเทศไทย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพสำหรับรถขนส่งทางรางที่นำมาให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยเฉพาะส่วนประกอบสำคัญของรถขนส่งทางรางที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย อาทิ โครงสร้างตัวรถ ระบบไฟฟ้าแบตเตอรี่ ระบบปรับอากาศ และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย
นายพิเชฐฯ กล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินการด้านการจดทะเบียนรถขนส่งทางรางตามร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. นั้นจะเป็นแนวทางที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระอันเกินควรแก่ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง และไม่ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้ประกอบการดำเนินอยู่ในปัจจุบันมากเกินความจำเป็น อีกทั้งจะเป็นการสร้างความมั่นใจในการเดินทางด้วยระบบรางว่าจะมีความปลอดภัย เพื่อสนับสนุนให้ระบบรางเป็นระบบการขนส่งหลักของประเทศต่อไป
หน่วยงานที่ประกาศ
กลุ่มประชาสัมพันธ์