กรมการขนส่งทางรางเยี่ยมชม บริษัท JR-West และ Nankai Electric Railway เพื่อศึกษาระบบการซ่อมบำรุงรักษารถไฟและระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส

วันที่ 3 มีนาคม 2568 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนสำนักปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้แทนบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และคณะ เดินทางเยือนโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาระบบการซ่อมบำรุงรักษารถไฟของบริษัท West Japan Railway Company (JR-West) และระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (EMV Contactless Payment) ของบริษัท Nankai Electric Railway โดยมีผู้บริหารระดับสูงของทั้งสองบริษัทให้การต้อนรับ

การเยือนครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการซ่อมบำรุงรักษารถไฟของบริษัท JR-West ที่ได้พัฒนาระบบการตรวจและการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าสายสีแดงของไทย รวมถึงระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัสและระบบตั๋วโดยสารแบบ QR Code ของบริษัท Nankai Electric Railway ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่ทันสมัยสำหรับผู้โดยสารในเมืองโอซาก้า

ในส่วนของบริษัท JR-West คณะได้เยี่ยมชมศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟอาโบชิ (Aboshi) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ 5 แห่งของบริษัท โดยศูนย์นี้มีพื้นที่ประมาณ 130,000 ตารางเมตร พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดประมาณ 32,000 ตารางเมตร มีพนักงาน 491 คน และรับผิดชอบการซ่อมบำรุงหนักสำหรับรถไฟทั่วเขตคันไซ โดยคณะผู้แทนได้ศึกษาระบบซ่อมบำรุงรถไฟ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนจากระบบเดิมที่ตรวจสอบตามรอบและชิ้นส่วนสำคัญทุก 8 ปี มาเป็นซ่อมบำรุงตามระยะทาง 800,000 กม. และการซ่อมบำรุงตามระยะเวลา 10 ปี ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้กับการบำรุงรักษารถไฟฟ้าสายสีแดงของไทยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ

สำหรับบริษัท Nankai Electric Railway เป็นผู้ให้บริการรถไฟในโอซาก้า ซึ่งมีสถานีทั้งหมด 100 สถานี ให้บริการการเดินรถ 154.8 กิโลเมตร ได้นำระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัสที่ช่วยแก้ปัญหาการจัดการธุรกรรมเงินสดให้กับลูกค้าชาวต่างชาติ ลดการเข้าคิวยาวที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว และลดอุปสรรคด้านภาษา โดยในปี 2564 บริษัทได้เริ่มใช้ VISA Touch และระบบตั๋วโดยสารแบบ QR และมีแผนขยายประตูที่รองรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัส EMV และตั๋วโดยสารแบบ QR ให้ครอบคลุม 87 สถานี ภายในเดือน มีนาคม 2568 ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบรถไฟฟ้าสายต่างๆ ของไทยที่ปัจจุบันใช้นโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารและลดปัญหาการเข้าคิวที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋ว

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า “การเยี่ยมชมบริษัทชั้นนำด้านระบบรางของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทำให้เห็นแนวทางการพัฒนาระบบซ่อมบำรุงรักษารถไฟและระบบการชำระเงินที่ทันสมัย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับระบบรางของไทยได้ ประเทศไทยกำลังมุ่งมั่นการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีความสะดวกและทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง ซึ่งปัจจุบันใช้นโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย และมีแผนที่จะขยายนโยบายนี้ให้ครอบคลุมทุกสายในเดือนกันยายน 2568 เพื่อส่งเสริมการใช้บริการของประชาชน ซึ่งนโยบายดังกล่าวทำให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ปัจจุบัน ระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทยได้เริ่มนำระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส (EMV) มาใช้ในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีแดง และสายสีม่วงแล้ว รวมถึงสายสีชมพูและสายสีเหลือง ซึ่งเชื่อว่าระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัสจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารและรองรับนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับจากการเยือนครั้งนี้ มาพัฒนาแนวทางการปรับปรุงระบบซ่อมบำรุงและระบบการชำระเงินของรถไฟฟ้า เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการระบบรางให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยยิ่งขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืน

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์

Skip to content