วันนี้ (23 ก.พ.64) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางราง ภายใต้โครงการศึกษาการกำกับการใช้ประโยชน์รางและจัดทำกฎระเบียบเพื่อรองรับการขนส่งทางรางในเส้นทางหลักของประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีนายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ สมาคมธุรกิจการค้า และกลุ่มผู้ประกอบการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ พร้อมสื่อมวลชน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมอีเทอร์นิตี้ ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร
นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมให้บริการเดินรถในการประกอบกิจการการขนส่งทางรางมากขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากระบบรางที่ภาครัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าว กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศ จึงได้เร่งดำเนินการศึกษาการกำกับการใช้ประโยชน์ราง และจัดทำกฎระเบียบเพื่อรองรับการขนส่งทางรางในเส้นทางหลักของประเทศและระหว่างประเทศ โดยงานประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน
และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนให้บริการเดินรถ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่มีศักยภาพ โดยใช้ช่วงเวลาที่นอกเหนือจากการใช้ทางของการรถไฟแห่งประเทศไทยมาเดินรถ และให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุน โดยจ่ายค่าเช่าใช้ทางให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์รางให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ได้นำเสนอเส้นทางที่มีศักยภาพ สำหรับนำร่องจัดสรรเวลาการให้เดินรถ (Slot Allocation) ให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนได้ 2 เส้นทาง ได้แก่
- โครงการนำร่องรถไฟโดยสาร : กรุงเทพฯ-ขอนแก่น รองรับผู้โดยสารจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือใน 2 เมืองหลัก คือ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดขอนแก่น ระยะทาง 450 กิโลเมตร โดยเพิ่มการให้บริการรถไฟโดยสาร รวม 6 ขบวน คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 2,000-2,220 คนต่อวัน และยังมีศักยภาพในการขยายตัวเพื่อรองรับการเดินทางในอนาคต
- โครงการนำร่องขนส่งสินค้า : แหลมฉบัง-ท่าพระ ระยะทาง 501 กิโลเมตร ปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 60,000-100,000 ตู้ต่อปี เส้นทางศักยภาพในการขนส่งสินค้าเกษตร เช่น ข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกทางทะเลหลักของประเทศ อีกทั้งในอนาคตถือเป็นเส้นทางรองรับความต้องการสินค้าประเภทแร่ หรือสินค้าจากจีนและ สปป.ลาวที่ส่งผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังอีกด้วย
ทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าวมีความเหมาะสมทั้งในด้านความต้องการในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในปัจจุบันและด้านศักยภาพในการขยายตัวของการขนส่งและผู้โดยสารในอนาคต
ทั้งนี้ ขร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม และพร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมให้บริการเดินรถในเส้นทางที่มีศักยภาพเหล่านี้ โดยมุ่งหวังจะช่วยยกระดับการให้บริการด้วยระบบรางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มความคุ้มค่าให้กับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของอาเซียนได้ในอนาคตต่อไป
หน่วยงานที่ประกาศ
กรมการขนส่งทางราง