กระทรวงคมนาคมบูรณาการเชิงรุก สานต่อนโยบายเดิมสู่การขับเคลื่อนนโยบายปี 2564 มุ่งเน้นพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน
วันที่ 4 มกราคม 2564 นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง และเจ้าหน้าที่ ขร. ร่วมประชุมแถลงนโยบายปี 2564 ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผ่านระบบ video conference โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการแถลงนโยบายฯ ดังกล่าว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั่วทั้งประเทศอย่างบูรณาการ ทั้งทางบก ราง น้ำ และอากาศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด โดยในปี 2564 กระทรวงคมนาคม ได้เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างรูปแบบการขนส่ง และการกำกับดูแลการพัฒนาระบบคมนาคมให้มีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา และราคาสมเหตุสมผล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน สนับสนุนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการสานต่อนโยบายเดิมจากปี 2563 และการขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2564 ดังนี้
1. การสานต่อนโยบายเดิมจากปี 2563 เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
1) เร่งผลักดันการปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรและปัญหามลพิษในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
2) เร่งจัดทำ Taxi Application เพื่อทดแทนเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของระบบ Taxi
3) เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ
4) เร่งรัดพัฒนาการบริการรถ ขสมก. และการนำระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-ticket) มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
5) เร่งพัฒนาระบบรถไฟทางคู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางราง
6) เร่งผลักดันการขนส่งสินค้าทางน้ำจากท่าเรือบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปท่าเรือแหลมฉบัง
7) เร่งพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์รวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตรหรือสินค้าเน่าเสียง่ายออกสู่ตลาด
2. การขับเคลื่อนนโยบายเพิ่มเติมปี 2564 เพื่อให้เดินหน้าการพัฒนาระบบคมนาคมเชิกรุก วางรากฐานการพัฒนาสู่อนาคต เรื่องที่ 1 ศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เพื่อวางแผนการพัฒนามอเตอร์เวย์ให้สอดคล้องไปกับการขยายโครงข่ายรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ซึ่งจะลดปัญหาการเวนคืนที่ดินซ้ำซ้อน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างเป็นระบบ และบูรณาการโครงข่ายการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องที่ 2 ศึกษาแผนโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน หรือ Land Bridge โดยการพัฒนามอเตอร์เวย์ควบคู่กับรถไฟทางคู่ เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือน้ำลึกที่จังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนอง เพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้า เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้กับการขนส่งและโลจิสติกส์ของทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ทำให้ประเทศไทยไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาคในอนาคต
เรื่องที่ 3 ตั้งศูนย์จัดจำหน่ายและกระจายสินค้า OTOP เพื่อส่งเสริมธุรกิจ การตลาด และเปิดช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ในพื้นที่สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า และท่าอากาศยาน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจจากฐานราก รวมถึงอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น
เรื่องที่ 4 สร้างสรรค์พื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์ ด้วยการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ว่างของการรถไฟแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้สวยงามร่มรื่น และจัดพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่
เรื่องที่ 5 ผลักดันการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV สำหรับใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถโดยสารไฟฟ้า เรือโดยสารไฟฟ้า และการนำระบบ EV พลังงาน Battery on Train มาใช้กับรถไฟไทย เพื่อประหยัดพลังงาน ลดมลพิษ ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และยกระดับระบบขนส่งสาธารณะของประเทศไทยให้เป็นสากล
เรื่องที่ 6 ศึกษาและกำหนดแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยาง ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค ซึ่งใช้งบประมาณต่ำกว่ารถไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และเตรียมพร้อมยกระดับการพัฒนาระบบเป็นรถไฟฟ้ารางหนัก (Heavy Rail) ในอนาคตต่อไป เรื่องที่ 7 พัฒนาระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง หรือ Feeder เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางจากย่านธุรกิจหรือชุมชนต่าง ๆ เข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าหลัก อำนวยความสะดวกในการเดินทางจากบ้านไปถึงยังจุดที่หมายปลายทาง ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อการแก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน เรื่องที่ 8 เร่งรัดการเปิดให้บริการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ โดยพร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากใจกลางเมืองสู่ปริมณฑลและภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยมีสถานีกลางบางซื่อ เป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบรางยุคใหม่ที่ทันสมัยเทียบเท่าสถานีรถไฟฟ้าชั้นนำของโลก เรื่องที่ 9 แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน นอกจากการผลักดันใช้ระบบ M-Flow ในการผ่านทางด่วนแล้ว ทำการเร่งรัดแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วน โดยทำการปรับปรุงโครงข่ายทางทางพิเศษและมอเตอร์เวย์จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) มอเตอร์เวย์ช่วงศรีนครินทร์ – สุวรรณภูมิ 2) ถนนประเสริฐมนูกิจ – งามวงศ์วาน 3) ทางด่วนขั้นที่ 1 ต่างระดับอาจณรงค์ และ 4) ทางด่วนขั้นที่ 1 ช่วงสะพานพระราม 9 – พระราม 2 เพื่อลดความแออัด และเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชน เรื่องที่ 10 แก้ปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ต โดยบูรณาการโครงข่ายทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับโครงข่ายทางหลวงแนวใหม่ สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว ระยะทาง 22.4 กม. ของกรมทางหลวง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางท่องเที่ยวจากท่าอากาศยานจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ จังหวัดพังงา เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ลดความแออัดบนทางหลวงหมายเลข 402เรื่องที่ 11 วางระบบติดตามโครงการขนาดใหญ่ เพื่อบูรณาการการบริหาร สั่งการติดตามผล และแก้ไขปัญหาในการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ – กาญจนบุรีโครงข่ายรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ครอบคลุม 4 มิติ ได้แก่ มิติการประชาสัมพันธ์ มิติการเร่งรัดการก่อสร้าง มิติการบริหารจราจร และมิติการบริหารพื้นที่ร่วมกับโครงการอื่น เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อประชาชนโครงการเหล่านี้ จะเป็นการวางรากฐานการเชื่อมโยงโครงข่ายและบริการด้านคมนาคมอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป
หน่วยงานที่ประกาศ
กรมการขนส่งทางราง