7 กันยายน 2566 : นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในงาน “Rail Research and Technology Conference: RRTC2023” ในหัวข้อ “High-Speed Rail Project : Navigating Thailand’s Future” งานดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ธีม“Industry – Academic Linkage” ระหว่างวันที่ 6 – 7 กันยายน 2566 ณ ห้องประชุม World Ballroom ชั้น 23 โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอนด์ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นายอธิภู รองอธิบดีฯ ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายระบบรางทั้งภายในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ โดยมีไทยเป็นจุดเชื่อมโยงหลักของการคมนาคม การขนส่ง การกระจายสินค้า และการท่องเที่ยวที่สอดรับกับการพัฒนาการเชื่อมโยงกับกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาควบคู่ไปกับการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร้รอยต่อร่วมกับการขนส่งระบบอื่น ๆ อาทิ การพัฒนาเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟทางคู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ และลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสต์ติก การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะช่วยกระจายความเจริญของเมืองไปสู่ภูมิภาค การพัฒนาเมืองใหม่ และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี รวมทั้งสร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นสูง ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเกิดการขนส่งที่ยั่งยืน พร้อมทั้งรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่จะช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากรางที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเต็มประสิทธิภาพ และเกิดผลตอบแทนสูงสุด สอดรับกับนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ เพราะระบบราง ไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบการขนส่ง แต่คืออนาคตของประเทศ
กระทรวงคมนาคม ได้มีการนำนโยบายด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านอุตสาหกรรมและบริการขนส่งและโลจิสติกส์ให้เป็นตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ใน 4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ Green & Safe Transport, Transport Efficiency, Inclusivity และ Innovation & Management ซึ่งเป็นกรอบทิศทางในการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราง เชื่อมการเดินทางกับระบบการขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนโลจิสติกส์ สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ให้ก้าวไกลบนเวทีโลก ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ภายในงานมี Keynote Speakers ชั้นนำด้านระบบรางทั้งจากในและต่างประเทศ รวมถึงผู้บรรยายเชิงวิชาการ (Panelist & Speaker) ทั้งจากภาคการศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 40 ท่าน เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบราง ซึ่งเกิดเป็นเครือข่ายการพัฒนางานวิจัยด้านระบบรางครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีประเด็นหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น Battery Train, Smart Railway Monitoring, High-Speed Rail Projects, Digital Railway & Transformation, Decarbonization, Railway Testing and Research Facilities, Rolling Stock Components เป็นต้น และมีกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 350 ท่าน จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและระบบการขนส่งทางราง
หน่วยงานที่ประกาศ
กลุ่มประชาสัมพันธ์