ระบบการจ่ายไฟฟ้าสำหรับรถไฟ (Railway Electrification System)

ระบบการจ่ายไฟฟ้าสำหรับรถไฟ คืออะไร

เป็นระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับรถไฟหรือรถราง เพื่อให้สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบนขบวนรถไฟฟ้า โดยข้อได้เปรียบของรถไฟที่ใช้พลังไฟฟ้า คือ สามารถเดินรถในระยะทางที่ยาวได้ โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาในระยะยาว มีค่าอัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนักที่สูงกว่าการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงดีเซล แต่มีข้อเสียตรงที่จะต้องใช้เงินลงทุนที่สูงในการติดตั้งระบบจ่ายไฟฟ้าสำหรับรถไฟ โดยมีรูปแบบระบบจ่ายไฟฟ้า 2 แบบ คือ (1) แบบระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือพื้นดิน และ (2) แบบระบบจ่ายไฟฟ้ารางที่สาม ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีรถไฟฟ้าที่ให้บริการแล้ว ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้า BTS ระบบรถไฟฟ้า MRT (สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง) และระบบรถไฟฟ้า Airport Rail Link โดยระบบการจ่ายไฟฟ้าให้กับรถไฟฟ้าในประเทศมีดังนี้

ระบบรถไฟฟ้าระบบจ่ายไฟฟ้าแรงดันไฟฟ้า
BTSรางที่สาม750 โวลต์ กระแสตรง
MRTรางที่สาม750 โวลต์ กระแสตรง
Airport Rail Linkเหนือพื้นดิน25,000 โวลต์ กระแสสลับ 50 เฮิรตซ์

ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือพื้นดิน (Overhead Catenary System: OSC)

ระบบนี้จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ตัวรถผ่านสายไฟฟ้าที่อยู่บนเสาไฟฟ้าที่ตั้งคู่ขนานไปกับทางรถไฟกระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านขารับกระแสไฟฟ้าที่ติดตั้งอยู่ด้านบนตัวรถไฟที่เรียกว่า “แหนบรับไฟ” เข้าสู่ระบบขับเคลื่อนขบวนรถ เพื่อให้ครบวงจรไฟฟ้า กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านรางรถไฟที่อาจมีการวางสายทองแดงตีคู่ไปกับรางด้วย (Return Wire) เพื่อเสริมความปลอดภัย และรางที่ไม่ได้ใช้เป็นส่วนกลับของกระแสจะมีการต่อสายดิน เพื่อความปลอดภัย ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะมักต่อเข้ากับระบบไฟฟ้าแรงสูง เพื่อลดการสูญเสียจากการส่งไฟฟ้าเป็นระยะทางไกลๆ การจ่ายไฟฟ้าด้วยวิธีเหนือพื้นดินมีข้อดีคือ บำรุงทางได้ง่ายโดยไม่ต้องกังวลกับการเหยียบราวจ่ายไฟฟ้าที่พื้นแต่มีข้อเสีย คือ เป็นตัวจำกัดความสูงของขบวนรถนอกเหนือจากอุโมงค์จากระยะปลอดภัยที่จะติดตั้งเสาและสายไฟฟ้า

รูปที่ 1 ภาพรวมของระบบการจ่ายพลังงานแบบเหนือพื้นดิน

การจ่ายไฟแบบเหนือพื้นดินเหมาะสมกับระบบรถไฟที่ต้องการทำความเร็วตั้งแต่ 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขึ้นไป และเป็นระยะทางไกล โดยระบบนี้ต้องมีสถานีไฟฟ้าย่อยตั้งอยู่เป็นระยะๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติมีระยะห่าง 30 – 60 กิโลเมตร ต้นทุนค่าก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงดันสูง รวมถึงสถานีไฟฟ้าย่อยตามรายทางประมาณทุกๆ 50 กิโลเมตร อยู่ระหว่างประมาณ 30 – 50 ล้านบาทต่อกิโลเมตร

รูปที่ 2 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่รับไฟฟ้าจากระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือพื้นดิน

ตัวอย่างระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบเหนือพื้นดินของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ สุวรรณภูมิ จะรับไฟฟ้า 69,000 โวลต์ 2 วงจร จากการไฟฟ้านครหลวง เข้ามาที่สถานี ณ กิโลเมตรที่ 8.078 และจะแปลงเป็นไฟฟ้า 1 เฟส แรงดัน 25,000 โวลต์ กระแสสลับ 50 เฮิรตซ์ 2 วงจร โดยวงจรแรกป้อนให้กับเส้นทางเดินรถฝั่งตะวันตก เป็นระยะทาง 7.97 กิโลเมตร และวงจรที่ 2 ป้อนให้กับเส้นทางเดินรถฝั่งตะวันออก เป็นระยะทาง 20.12 กิโลเมตร

รูปที่ 3 ระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าในการเดินรถของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์

ระบบจ่ายไฟฟ้ารางที่สาม (Third rail)          

ระบบนี้จะจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ตัวรถผ่านรางตัวนำลักษณะกึ่งแข็งที่ถูกวางอยู่ด้านข้างหรือระหว่างรางวิ่งของรถไฟ ผ่านตัวรับกระแส (Current Collector) ที่ติดตั้งอยู่ที่โบกี้รถไฟ และใช้รางวิ่งเป็นตัวรับกระแสย้อนกลับ ซึ่งรางวิ่งนี้จะต้องมีการวางบนฉนวนเพื่อป้องกันกระแสรั่วไหลอันจะทำให้เกิดการผุกร่อนของโครงสร้างได้

รูปที่ 4 รางที่สาม

โดยทั่วไประบบจ่ายไฟฟ้าดังกล่าวจะจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง และมักจะถูกใช้ในระบบขนส่งมวลชนภายในเมืองที่เป็นระบบปิด  เหมาะสมกับระบบรถไฟฟ้าที่ต้องการทำความเร็วไม่เกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เช่น ระบบรถไฟฟ้ามหานครกรุงเทพ ใช้ไฟ 750 โวลต์กระแสตรง โดยระบบนี้ต้องมีสถานีไฟฟ้าย่อย ตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติมีระยะห่าง 3 – 10 กิโลเมตร ขึ้นกับจำนวนรถไฟฟ้าในระบบ

รูปที่ 5 รูปแบบการต่อระบบการจ่ายพลังงานแบบรางที่สาม

รูปที่ 6 รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่รับไฟฟ้าจากระบบจ่ายไฟฟ้ารางที่สาม

ตัวอย่างการจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบรางที่สามของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง โดยระบบจะเริ่มจากการรับไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง 2 แหล่ง ระดับแรงดัน 115,000 โวลต์ และ 69,000 โวลต์ เข้าสู่สถานีไฟฟ้าย่อยประธาน (Bulk Substation) และแปลงเป็นระดับแรงดันไฟฟ้า 24,000 โวลต์ กระแสสลับ 50 เฮิรตซ์  ซึ่งจะจ่ายต่อไปที่ สถานีไฟฟ้าขับเคลื่อน (Traction Substation) เพื่อแปลงไฟฟ้ากระแสสลับ 24,000 โวลต์ เป็นไฟฟ้ากระแสตรง 750 โวลต์ สำหรับใช้ในการขับเคลื่อนรถไฟฟ้าต่อไป

รูปที่ 7 ระบบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าแบบรางที่สามของรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง

ในปัจจุบันพบว่ามาตรฐานงานด้านระบบไฟฟ้าที่นำมาใช้ออกแบบระบบการจ่ายไฟฟ้าสำหรับรถไฟในประเทศไทยมีหลากหลายทั้งมาตรฐานระดับนานาชาติ และมาตรฐานระดับชาติ เช่น มาตรฐาน IEC (International Electrotechnical Commission) ของนานาชาติ มาตรฐาน DIN (German Industrial Standard) ของประเทศเยอรมัน และ มาตรฐาน JIS (Japanese Industrial Standard) ของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ประเทศไทยที่ต้องดำเนินการต่อไปในเรื่องระบบการจ่ายไฟฟ้าสำหรับรถไฟ คือ ต้องพัฒนามาตรฐานงานด้านระบบไฟฟ้าของระบบรางสำหรับประเทศไทย เพื่อให้มีระเบียบ ข้อบังคับ มาตรฐาน และคู่มือสำหรับงานด้านระบบไฟฟ้าสำหรับรถไฟ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบการจ่ายไฟฟ้าสำหรับรถไฟของประเทศไทยจะมีความมั่นคงและความปลอดภัยให้แก่ระบบ ผู้ปฏิบัติงานและผู้ใช้บริการรถไฟทุกคน

หน่วยงานที่ประกาศ

กองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่คลังความรู้