ขร. ขานรับนโยบายพร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางรางสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย สุขใจในการใช้บริการ

วันนี้ (19 ตุลาคม 2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมชาย สุมนัสขจรกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เข้าตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับกรมการขนส่งทางรางโดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีฯ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง ขร.

นายสุรพงษ์ฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามกรอบนโยบายคมนาคม “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ที่ต้องการสร้างความสุขให้กับประชาชนในทุกมิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ มิติด้านความปลอดภัย มิติด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และมิติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยระบบขนส่งทางรางถือเป็นหนึ่งในโหมดการเดินทางที่สำคัญที่สามารถตอบโจทย์ในทุกมิติตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงต้องมีการกำหนดกรอบนโยบายการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานของกรมการขนส่งทางรางในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางของประเทศ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการขับเคลื่อนตามภารกิจด้านคมนาคมการขนส่งทางราง ดังนี้

1. มิติทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการกำกับ ติดตาม การพัฒนาโครงข่ายระบบรางทั้งในเมืองและระหว่างเมือง การพัฒนาระบบรถไฟระหว่างเมือง การพัฒนาทางคู่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบรางทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อการกระจายความเจริญทั้งในเขตเมืองและภูมิภาคและส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

(1) ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 12 สายทาง ระยะทาง 242.34 กม.)

– การเร่งรัดโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ (สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี

ความคืบหน้า 98.37% และส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี ความคืบหน้า 32.85% /สายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี ความคืบหน้างานโยธา 100% / แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท-ดอนเมือง อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนพื้นที่ / สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ความคืบหน้างานโยธา 18.68%)

– ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

พื้นที่ต่อเนื่องระยะ 2 (M-Map 2) เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็น ตลอดจนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคต

(2) ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งทางรางระหว่างเมือง (โครงข่ายทางรถไฟระยะทางรวม 4,044 กม. ครอบคลุม 47 จังหวัด แบ่งเป็น ทางเดี่ยว 3,310 กม. ทางคู่ 627 กม. ทางสาม 107 กม.)

– ติดตาม เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ ระยะทาง 613 กม. และทางสายใหม่ 2 โครงการ ระยะทาง 677 กม.

– ติดตาม เร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 โครงการ ระยะทางรวม 473 กม.

– ส่งเสริมการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัดและภูมิภาค และยกกระดับคุณภาพชีวิต

และการเดินทางของประชาชน

2. มิติด้านความปลอดภัย โดยให้ความสำคัญกับการกำกับ ติดตามการให้บริการระบบราง ด้วยการยกระดับด้านการอำนวยความสะดวก และการให้บริการด้านความปลอดภัยสู่มาตรฐานสากลทั้งในมิติด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนการให้บริการเชิงสังคมและการให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมาย เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียจากการเดินทางระบบขนส่งทางราง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนที่มาใช้บริการ

(1) การป้องกันและลดอุบัติเหตุระหว่างจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ โดยการลดจุดตัดที่ไม่จำเป็น ปิดทางลักผ่านที่ผิดกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมการก่อสร้างทางข้ามหรืออุโมงค์ข้ามทางรถไฟเพื่อลดอุบัติเหตุ และลดการเสียเวลาการเดินทาง รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความปลอดภัย พร้อมทั้งมีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางให้ได้มาตรฐานและปลอดภัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัล อาทิเช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน “DRT Crossing” ที่รวบรวมฐานข้อมูลจุดตัดทางถนนและทางรถไฟไว้ให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลต่างๆ ได้ และสามารถแจ้งข้อมูลอุบัติเหตุหรือจุดตัดที่ชำรุดได้ในแอปพลิเคชัน ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและเร่งประสานงานแก้ไขเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว

(2) การตรวจสภาพรถขนส่งทางราง และทางรถไฟ ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน โดยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ

(3) การกำกับดูแลการให้บริการสถานีทั้งรถไฟฟ้าในเมือง/รถไฟระหว่างเมือง โดยการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยทั้งคน อุปกรณ์อำนวยความสะดวก รวมถึงการพัฒนาไปสู่ระดับสากล

(4) การผลักดัน พ.ร.บ. การขนส่งทางราง พ.ศ. …. เพื่อให้การกำกับดูแลระบบขนส่งทางรางมีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศและเทียบเท่าสากล ซึ่งปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

(5) ส่งเสริมให้มีแนวทางปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงาน โดยเร่งรัดผลักดันให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และยกระดับการให้บริการประชาชนในการให้บริการข้อมูล และจัดการข้อร้องเรียนสำหรับประชาชนผู้ใช้บริการผ่าน Mobile Application รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) ตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เพื่อส่งเสริมให้มีแนวทางปฏิบัติ

ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานในการก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง (operator) อีกทั้งระบบที่ใช้ในการติดตามและประเมินผลและผู้ประกอบกิจการขนส่งทางราง เช่น รฟท. รฟม. รฟฟท. BTS เป็นต้น

(6) การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการกำกับติดตามหรือรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกรมการขนส่งทางรางได้มีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “DRT Crossing” ที่จะเป็นฐานข้อมูลและแผนที่สารสนเทศออนไลน์ เพื่อประชาชนสามารถเข้าไปดูข้อมูลจุดตัดทางถนนและทางรถไฟผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสามารถแจ้งข้อมูลอุบัติเหตุหรือจุดตัดที่ชำรุดได้ในแอปฯ ซึ่งจะช่วยให้กรมการขนส่งทางรางทราบ และเร่งประสานงานแก้ไขเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว หรือการจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้ประกอบการและการออกใบอนุญาตด้านการขนส่งทางรางผ่านระบบดิจิทัล (e-License R) ซึ่งจะทำให้กรมสามารถรวบรวมฐานข้อมูลเจ้าหน้าที่ด้านขนส่งทางรางที่มีศักยภาพ รถที่มีมาตรฐาน และนำมาจัดทำใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงานขับรถ การประกอบกิจการ หรืออื่นๆ ที่จะทำให้ระบบขนส่งทางรางไทยมีมาตรฐานต่อไป

3. มิติด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล เดินหน้ายกระดับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกและเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชนที่ต้องการเข้าถึงระบบขนส่งทางราง ตลอดจนตอบสนองการใช้บริการ ให้สามารถเดินทางจากต้นทางไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว สะดวก สะอาด ปลอดภัย ตรงต่อเวลา ราคาเหมาะสม รองรับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ ทุกภาคส่วน

(1) ส่งเสริมแนวทางกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบราง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งทางรางได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศใช้นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือปรับลดจากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลืออัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเฉพาะของแต่ละสาย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยจะนำร่อง 2 โครงการ คือ 1.โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ และ 2.โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายธานีรัถยา) และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายนครวิถี) โดยมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบรางเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

(2) ส่งเสริมการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ โดยการกำหนด/ปรับปรุงระบบ Feeder เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งทางราง

(3) การขนส่งสินค้าทางรถไฟทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าด้วยระบบขนส่งทางราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและลดปัญหาการจราจรติดขัด

(4) การขนส่งผู้โดยสาร การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงระบบขนส่งทางราง (Universal Design) ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี (TOD)

4. มิติด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อใช้ในการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการ Shift Mode และนำมาซื้อขายเป็นคาร์บอนเครดิต เพื่อเป็นรายได้กลับคืนให้แก่ผู้ให้บริการในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่อไป รวมทั้งการกำกับดูแลและตรวจสอบหน่วยงาน operation ในเขตพื้นที่ระหว่างการก่อสร้างด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5 ลดสภาวะโลกร้อน

(1) ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งทางราง แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ PM 2.5

(2) กำกับดูแลและตรวจสอบ โดยการตรวจสอบรถขนส่งทางรางไม่ให้ปล่อยควันดำ หรือมลพิษทางอากาศเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด

นายสุรพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้ฝากให้กรมการขนส่งทางรางดำเนินการติดตาม และประเมินผลหลังจากที่กระทรวงคมนาคมประกาศใช้นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ในรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วง รวมถึงการพัฒนาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 3 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช เพื่อให้เป็นไปตามแผนการเปิดให้บริการภายในปี 2570 และโครงการรถไฟอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ โดยเร่งรัดก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ 4 โครงการ ระยะทางทั้งสิ้น 613 กม. และให้เร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,479 กม. รวมถึงการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง โครงการรถไฟสายใหม่ และโครงการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน(ปี พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป

ทางด้านนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวเพิ่มเติมถึงประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ…. มีผลใช้บังคับ ในหลายประเด็น ได้แก่

1. มีกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กรกำหนดให้กรมการขนส่งทางรางมีหน้าที่ และอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งทางราง กำหนดมาตรฐานด้านต่ง ๆ เช่น การประกอบกิจการมาตรฐานผู้ประจำหน้าที่ มาตรฐานความปลอดภัยและการบำรุงทาง เขตระบบปลอดภัย การเชื่อมต่อรางเพื่อการขนส่งร่วมกัน การจัดสรรความจุตารางเวลาการเดินรถ

2. มีคณะกรรมการระดับชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการกำหนดนโยบายและแผนด้านการขนส่งทางรางให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาด้านการขนส่งระบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกันทั่วประเทศและเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

3. ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางอย่างเสรีภายใต้กติกาที่กำหนดไว้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกันโดยการกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางราง โดยมีการจัดสรรตารางการเดินรถขนส่งทางราง

4. ส่งเสริมให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้โดยสารในการกำหนดอัตราค่โดยสารและค่าขนส่งสินค้าที่เป็นธรรม โดยมีคณะกรรมการกำหนดอัตราขั้นสูงของคำโดยสารและค่าขนส่งสินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ

5. ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถขนส่งทางรางเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับการประกอบกิจการขนส่งทางรางนำรายได้เข้ารัฐในการนำไปพัฒนาหรือบำรุงรักษา ด้านการขนส่งทางรางและด้านอื่น ๆ

6. กำหนดให้มีคณะกรรมการสวบสวนอุบัติเหตุเพื่อคันหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

การดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของกรมการขนส่งทางราง ที่มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ ขร. พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งทางราง และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศที่มีความทันสมัย ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และการเดินทางของประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย และมีความสุขในการใช้บริการ เพื่อให้เป็น “คมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน”

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์