กระทรวงคมนาคมเตรียมการเจรจากับจีนเพื่อผลักดันความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูง

วันนี้ (วันที่ 2 พฤษภาคม 2567) กระทรวงคมนาคมได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 1/2567 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ครั้งที่ 31 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 7-8 พฤษภาคมนี้ โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธาน พร้อมด้วยนายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายพงศกร อรรณนพพร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรื่องกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ซึ่งประกอบไปด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง และนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

ที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 โดยมีงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา จากทั้งหมด 14 สัญญา อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 10 สัญญา และรอลงนามสัญญาอีก 2 สัญญา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยคาดว่าจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติโดยเร็ว

อีกประเด็นสำคัญคือการเชื่อมต่อโครงการสู่ สปป.ลาว ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ รองรับการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนระหว่างไทย สปป.ลาว และจีน โดยเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากหนองคายเข้าสู่เส้นทางใน สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ศึกษาแนวทางรูปแบบเดียวกับโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้ว สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟและสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ในช่วงสถานีเวียงจันทน์ใต้-สะพานข้ามแม่น้ำโขง-สถานีนาทา

ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงคมนาคมได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางสำหรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทดสอบและรับรองชิ้นส่วน รวมทั้งสนับสนุนศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่สถานีเชียงรากน้อย โดยขณะนี้ สทร. อยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกความเข้าใจกับไชน่าสเตทเรลเวย์กรุ๊ปต่อไป

การประชุมครั้งเป็นจุดเริ่มต้นของความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมของโครงการรถไฟความเร็วสูงระหว่าง

สองประเทศ ยกระดับความร่วมมือให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค รวมทั้งเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างกัน ตลอดจนขยายเครือข่ายเชื่อมโยงรถไฟสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งและการเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์