สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่จะทำให้ให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย

ดร. พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยถึงสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ประกอบไปด้วย 10 หมวด และบทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 165 มาตรา ปรากฏสาระสำคัญดังนี้

หมวด 1 ว่าด้วยการให้มีคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง (นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ) มีหน้าที่และอำนาจ เช่น กำหนดแผนพัฒนาการขนส่งทางราง แนวทางการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์ แนวทางการเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่น รวมทั้งให้ความเห็นชอบโครงการในการประกอบกิจการขนส่งทางรางและมาตรฐานการขนส่งทางรางด้านต่าง ๆ ตลอดจนกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง และกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าโดยสาร เป็นต้น

หมวด 2 ว่าด้วยการจัดทำโครงการขนส่งทางราง โดยกำหนดให้เจ้าของโครงการต้องจัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมและรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง แล้วเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นชอบก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายขนส่งทางราง ส่วนการดำเนินกิจการขนส่งทางรางเป็นได้ทั้งหน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดในการเสนอโครงการขนส่งทางรางที่แสดงถึงความคุ้มค่า ความเหมาะสม และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

หมวด 3 ว่าด้วยเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง ให้เจ้าของโครงการเป็นผู้กำหนด พร้อมทั้งจัดทำและแสดงเครื่องหมายแสดงแนวเขตฯ โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดจะกระทำการ ที่อาจเป็นอันตรายหรือกระทบกระเทือนต่อระบบรถขนส่งทางรางในเขตที่กำหนด

หมวด 4 ว่าด้วยการประกอบกิจการขนส่งทางราง โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่ง ใบอนุญาตประกอบกิจการการเดินรถขนส่งทางราง และใบอนุญาตประกอบกิจการรางเพื่อการขนส่งและการเดินรถขนส่งทางราง ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามที่พระราชบัญญัติฯ กำหนด รวมทั้งต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารและค่าบริการไม่เกินกว่าอัตรา ขั้นสูงที่คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางกำหนด นอกจากนี้ เจ้าของโครงการหรือเอกชนเจ้าของรางหรือทางเฉพาะ มีหน้าที่ต้องยินยอมให้มีการเชื่อมต่อรางเมื่อมีการร้องขอและได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ซึ่งเจ้าของโครงการหรือเจ้าของรางหรือทางเฉพาะ มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน โดยหมวดนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางหรือปรับเปลี่ยนเวลาการเดินรถขนส่งทางรางหรือปรับขีดความสามารถของความจุทาง ซึ่งจะกระทบต่อการจัดสรรเวลาเดินรถขนส่งทางราง

หมวด 5 ว่าด้วยการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ กำหนดให้มีคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุและอุบัติการณ์ มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์ ดำเนินการสอบสวนเพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลสำหรับความปลอดภัยในการขนส่งทางราง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุทำนองเดียวกันขึ้นอีก รวมทั้ง วิเคราะหข้อมูลและเสนอแนะมาตรการเชิงป้องกันให้แก่หน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวกับการขนส่งทางราง ติดตามการดำเนินการ และจัดทำรายงานผลการดำเนินการประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง

หมวด 6 ว่าด้วยผู้ตรวจการขนส่งทางราง โดยกำหนดให้ข้าราชการสังกัดกรมการขนส่งทางราง ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจการขนส่งทางราง มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบและดำเนินการใดๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหลักฐานเกี่ยวกับการประกอบกิจการขนส่งทางรางที่เข้าข่ายว่าจะเป็นความผิด

หมวด 7 ว่าด้วยผู้ประจำหน้าที่ โดยกำหนดให้ผู้ประจำหน้าที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี กรมการขนส่งทางราง หรือออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย ผู้ประจำหน้าที่ซึ่งต้องได้รับใบอนุญาต ได้แก่ พนักงานขับรถขนส่งทางรางและพนักงานควบคุมรถขนส่งทางราง

หมวด 8 ว่าด้วยการจดทะเบียนรถขนส่งทางราง โดยกำหนดให้รถขนส่งทางรางต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด มีความมั่นคงแข็งแรง และมีส่วนควบอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการเดินรถขนส่งทางราง จากนั้น จะต้องนำรถขนส่งมาดำเนินการจดทะเบียนก่อนนำไปใช้ในการประกอบกิจการ

หมวด 9 ว่าด้วยการคุ้มครองผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเมื่อมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของผู้โดยสารและผู้ใช้บริการจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสม ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการมีสิทธิร้องเรียนต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางรางเมื่อได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางรางได้

หมวด 10 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ กำหนดมาตรการบังคับทางปกครองในกรณีเป็นการกระทำความผิดใดที่มีโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง และเป็นการกระทำของผู้ประจำหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาต และกรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ได้รับใบอนุญาต อาจถูกดำเนินมาตรการลงโทษปรับทางปกครองได้

บทเฉพาะกาล กำหนดให้โครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางที่ได้เริ่มดำเนินการไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับและยังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการต่อไปตามเดิม บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง

จากร่างพระราชบัญญัติที่กล่าวมา จะเห็นว่า มีเหนื้อหาเป็นการควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐาน ระเบียบด้านความปลอดภัย การบำรุงทาง การประกอบกิจการขนส่งทางราง การบริหารจัดการการขนส่งทางรางอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับการพัฒนาการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ ให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งทางรางให้สามารถยกระดับมาตรฐาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยในการเดินทางระบบขนส่งทางรางอย่างแท้จริง

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์