การประชุมด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่

วันนี้ (24 มี.ค. 65) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกลด้วยวิดีทัศน์ โดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency (JRTT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โดยประเด็นการหารือ ประกอบด้วย 5 ประเด็น ได้แก่

1.) ผลการดำเนินงานการประมาณการความต้องการเดินทาง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษา และลงพื้นที่สำรวจภาคสนามเพื่อเก็บแบบสำรวจความต้องการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง และข้อมูลปริมาณการความต้องการเดินทางในการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่

2.) การปรับลดจำนวนตู้รถไฟ ฝ่ายญี่ปุ่นได้พิจารณาปรับลดจำนวนตู้รถไฟการลดจำนวนตู้รถไฟ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนโครงการ และยังสามารถรองรับปริมาณความต้องการเดินทางในเวลาเร่งด่วนของประชาชนได้ โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอจำนวนตู้รถไฟจาก 12 ตู่ต่อขบวน เหลือ 8 ตู้ต่อขบวน โดยเพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟจาก 2 ขบวนต่อชั่วโมง เป็น 3 ขบวนต่อชั่วโมง ในช่วงเวลาเร่งด่วน

3.) การศึกษาแนวเส้นทาง ฝ่ายญี่ปุ่นได้ศึกษาแนวเส้นทางที่สามารถเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารได้สะดวก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ

4.) ต้นทุนโครงการ ฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการหาแนวทางเพื่อลดต้นทุนโครงการให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

5.) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอกรณีศึกษาการพัฒนาสถานีซากุดะอิระ ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานีที่รถไฟความเร็วสูงผ่าน โดยบริเวณสถานีมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นำมาซึ่งการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยโครงการพัฒนาดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการระหว่างปี ค.ศ. 1994 – 2002 ซึ่งใช้งบประมาณในการดำเนินการ 2.52 หมื่นล้านบาท

ฝ่ายไทยได้ขอบคุณฝ่ายญี่ปุ่นทีได้ศึกษา และนำความเห็นของฝ่ายไทยไปปรับปรุงการศึกษาในปีที่ผ่านมาพร้อมนี้ฝ่ายญี่ปุ่นจะดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ และการเงินในปีงบประมาณ 2022 ต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์