กรมการขนส่งทางราง จัดประชุมกลุ่มย่อย (Working Group) ครั้งที่ 2 เสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัย พัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เต็มประสิทธิภาพ

วันนี้ (28 ก.พ.65) เวลา 09.00 น. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดประชุมกลุ่มย่อย (Working Group) ครั้งที่ 2 ตามกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการศึกษาการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับ และข้อเสนอแนะ รวมถึงมาตรการกำกับดูแลด้านความปลอดภัย โดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ให้เกียรติเป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมการค้า เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมอินฟินิตี้ ชั้น G โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย และเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบขนส่งทางรางทั่วประเทศให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเดียวกัน ดำเนินการศึกษาโครงการการพัฒนาระบบกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง เพื่อจัดทำมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงการขนส่งทางราง รวมทั้งจัดทำมาตรฐาน ร่างกฏกระทรวง ร่างระเบียบ ร่างข้อบังคับและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางสำหรับการดำเนินงานด้านการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 กระบวนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและความมั่นคง ประกอบด้วย 1.การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 2.การออกแบบขั้นต้นและกำหนดคุณสมบัติ 3.การออกแบบรายละเอียดและการกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ 4.การจัดหา การก่อสร้าง การผลิต การติดตั้ง 5.การทดสอบและการเตรียมพร้อมใช้งาน 6.การฝึกอบรม 7.การดำเนินงานและการบำรุงรักษา 8.การกำจัดวัสดุอุปกรณ์ที่หมดอายุการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ส่วนที่ 2 จัดทำแผนพัฒนาการกำกับดูแลความปลอดภัยและความมั่นคง แบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้ 1.แผนพัฒนาระยะเร่งด่วน (1 ปี) ประกอบด้วย การจัดตั้งคณะทำงานพิจารณาระบบกำกับดูแลและรับรองความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง รวมทั้งการจัดทำข้อกำหนด (Regulations) จัดทำมาตรฐาน (Standards) การจัดทำแนวทางและคู่มือ (Guidelines & Manuals) และการจัดทำแผนแม่บท 2.แผนพัฒนาระยะกลาง (5 ปี) ประกอบด้วย 1) การปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางเพิ่มเติม 2) การตรากฎหมายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง 3) การกำหนดกลไกเพื่อการบริหารจัดการ กำกับดูแลตรวจสอบ โครงการระบบรางของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐาน การพัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางราง3.แผนพัฒนาระยะยาว (10 ปี) ประกอบด้วย 1) การยกระดับระบบความปลอดภัยของการขนส่งทางรางให้มีความน่าเชื่อถือได้ในระดับสากล 2) การพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยและความมั่นคงของการขนส่งทางรางเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระบบคมนาคมในระดับภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล

ด้านนายทยากร จันทรางศุ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า โครงการฯ ได้รวบรวมและศึกษาเชิงเปรียบเทียบกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรฐาน ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขนส่งทางรางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านขบวนรถขนส่งทางราง ด้านการจัดการเดินรถและการให้บริการ ด้านการควบคุมการเดินรถขนส่งทางราง และด้านสิ่งแวดล้อม นำมาจัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวด ได้แก่
หมวดที่ 1 คำจำกัดความ มีเนื้อหาสาระสำคัญ ประกอบด้วย การให้คำจำกัดความ ความหมายของคำที่มีความหมายเฉพาะสำหรับใช้ในร่างกฎกระทรวง
หมวดที่ 2 บททั่วไป มีเนื้อหาสาระสำคัญ ประกอบด้วย การกำหนดเรื่องทั่วไปที่จะใช้บังคับเฉพาะในกฎกระทรวงนี้
หมวดที่ 3 มาตรฐานว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งทางราง เป็นหมวดที่มีเนื้อหาสาระสำคัญมากที่สุด เนื่องจากจะเป็นการกำหนดข้อกำหนด เงื่อนไขต่างๆ ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้มาตรฐานแนะนำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขนส่งทางราง
หมวดที่ 4 บทเฉพาะกาล เนื่องจากการมาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมีการประกาศให้ปฏิบัติตามหลังจากที่หน่วยงานของรัฐ หรือ เอกชนได้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางมาก่อนแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เวลาและงบประมาณในการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้นในบทเฉพาะกาลจึงจะมีการกำหนดเงื่อนไข เงื่อนเวลาในการบังคับใช้กฎกระทรวงตลอดถึงมาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้

สำหรับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยความปลอดภัยในการขนส่งทางราง พ.ศ. …. ฉบับนี้ยังเป็นเพียงฉบับร่างเท่านั้น ยังจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขอีกและผ่านความเห็นชอบก่อนที่จะมีการดำเนินการเพื่อจัดทำกฎหมายตามขั้นตอนในการจัดทำร่างกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ขร. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม จึงได้จัดกิจกรรมระดมความเห็นจากทั้งภาครัฐรัฐวิสาหกิจ และเอกชนทุกท่าน ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาการมาตรฐานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางราง และ ยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์