ขร. หารือร่วมกับ MLIT ของญี่ปุ่น มุ่งเสริมสร้างศักยภาพระบบรางไทย

(5 มี.ค. 68) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) นำโดยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมเจ้าหน้าที่ ขร. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางการพัฒนาระบบรางของไทยในหลายมิติ ร่วมกับคุณ Yuki Tanaka Director-General For International Affairs และ คุณ KOBAYASHI Nobuyuki Director, international division ผู้แทนจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) โดยเป็นการประชุมหารือความร่วมมือเชิงปฏิบัติการด้านรถไฟไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ระหว่างการประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อพัฒนาระบบขนส่งในด้านต่างๆ รวมถึงการศึกษาดูงานการพัฒนาระบบขนส่งของญี่ปุ่น โดยระหว่างการประชุมหารือและศึกษาดูงาน ทางญี่ปุ่นได้มีข้อเสนอแนะให้กับคณะผู้แทนของ ขร. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ เช่น แนวทางในการซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยเสนอแนวทางสนับสนุนการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul Maintenance) ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ (OJT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบและการซ่อมบำรุง แนวทางการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อระหว่างระบบรางในกรุงเทพฯ โดยใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการผู้โดยสารและการแก้ไขปัญหาความแออัดในช่วงเวลาเร่งด่วน การพัฒนาระบบกล้องวงจรปิดอัจฉริยะที่ใช้ AI ในการตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) กับหน่วยงาน UR การศึกษาระบบประตูอัตโนมัติที่ใช้การจดจำใบหน้า (Facial Recognition Ticket Gate) เป็นต้น

ทั้งนี้ ขร. ได้มีการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาระบบการขนส่งทางรางของไทย ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางเทคนิค (Technical Advisory Committee: TAC) เพื่อให้คำแนะนำในการพัฒนาระบบราง พร้อมทั้งร่วมพิจารณาร่างบันทึกความร่วมมือ 8 ด้าน ซึ่งเป็นการต่ออายุความตกลงระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของไทยและญี่ปุ่นที่ได้ลงนามไว้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565

นายอธิภู ได้กล่าวถึงการร่วมประชุมและหารือในครั้งนี้ว่า “การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพระบบรางของไทย ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน และส่งเสริมการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันพัฒนาแผนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาระบบรางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป ประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบรางของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการผู้โดยสารและการแก้ไขปัญหาความแออัด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ รวมถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) ที่จะช่วยส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์

Skip to content