กรมการขนส่งทางรางร่วมเปิดมุมมองของภาครัฐและเอกชนไทยกับโอกาสและความท้าทายจากรถไฟจีน – สปป. ลาว

วันที่ 10 พ.ย. 2564 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เข้าร่วมการเสวนาภายในงาน “รถไฟจีน-สปป.ลาว ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย” จัดโดย บมจ. ธนาคารกสิกรไทย ผ่านทาง Zoom Application ซึ่งการเสวนาในครั้งนี้ เป็นการเปิดมุมมองของภาครัฐและเอกชนไทยเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายจากรถไฟจีน – สปป. ลาว โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ประธานบริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท Yunnan Intercontinental Multi – model Railway Logistics จำกัด ผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดหนองคาย ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย และประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย

ทั้งนี้ ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้เปิดมุมมองต่อการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างจีนกับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ไว้ว่าถือเป็นโอกาสที่ส่งผลดีในหลายด้านทั้งด้านการค้า และด้านบริการ โดยด้านการค้าไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไปลาวและจีนได้เพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าอุปโภค บริโภค และโดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศจีนนั้นใช้เวลานาน โดยเฉพาะผลไม้ไทยเป็นผลไม้เมืองร้อน มีอายุการเก็บรักษาสั้น การขนส่งที่ใช้เวลานานจะทำให้เกิดการเน่าเสียของสินค้า ดังนั้นการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟลาว – จีน จึงเป็นผลดีต่อสินค้าเกษตร ให้สามารถกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างทั่วถึงในระยะอันสั้น และด้านการบริการและการท่องเที่ยว คาดว่านักท่องเที่ยวจีนและลาวจะมาเที่ยวไทยได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนธุรกิจบริการ อาทิกลุ่มบริการสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล นวดแผนไทย เนื่องจากความเชื่อมั่นในคุณภาพ และมาตรฐานสาธารณสุขของไทย รวมถึง กลุ่มร้านอาหาร และโรงแรม เนื่องจากราคาสินค้าและบริการถูก รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มของไทยเป็นที่นิยมของทั้งชาวจีนและลาว ที่จะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการค้าขายผ่านแนวเส้นทางดังกล่าว

สำหรับแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟไทย – ลาว – จีน เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าข้ามแดนของไทย ผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ สามารถสรุปแนวทางการเชื่อมโยงรถไฟไทย – ลาว – จีน เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนี้

1. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งใหม่พิจารณาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่อยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โครงสร้างสะพานจะเป็นรูปแบบสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล โดยสะพานแห่งใหม่จะมีระยะทางก่อสร้างรถไฟข้ามแม่น้ำโขง ระยะทาง 1,500 เมตร อยู่ในพื้นที่ฝั่งประเทศไทย 750 เมตร และพื้นที่ฝั่งประเทศลาว 750 เมตร ความกว้างของสะพานประมาณ 7 เมตร รางรถไฟขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร จำนวน 1 ราง รางรถไฟขนาด 1 เมตร จำนวน 1 ราง รวมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับปริมาณการขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต

2. การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน
2.1 การบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานเดิม (ระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่)รฟท. จะพิจารณาจัดขบวนรถรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่สถานีท่านาแล้งของ สปป.ลาว นำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศไทย – ลาว – จีน ซึ่งจะเปิดให้บริการเดินรถจากจีนมายัง สปป.ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ จากเดิมเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวมมีการเพิ่มจำนวนขบวนรถเป็น 14 ขบวน รองรับการขนส่งสินค้าขบวนละ 26 แคร่

2.2 การบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานแห่งใหม่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งจะนำแนวทางดังกล่าวหารือร่วม 3 ฝ่าย ในการประชุมต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ เพื่อพิจารณาให้ได้ข้อสรุปดังนี้1) แนวเส้นทางของสะพานข้ามแม่น้ำโขง รูปแบบ และจำนวนทางวิ่ง2) การลงทุนโครงการ การบริหารจัดการการเดินรถ

3. การพัฒนาพื้นที่ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟ
3.1 ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย จังหวัดหนองคายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศไทย ซึ่งการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยในการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย – ลาว – จีน ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน – ลาว ไว้ โดยมีการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง รฟท. ได้มีประกาศเชิญชวนเสนอราคาค่าเช่าพื้นที่เพื่อใช้ประโยชน์ตามศักยภาพในการทำโรงพักสินค้าที่สถานีหนองคาย เป็นการชั่วคราว มีกำหนด 3 ปี โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 แปลง ด้วยวิธีเสนอราคาแต่ละแปลงแยกจากกัน ผู้เสนอราคาแต่ละราย สามารถเสนอราคาแปลงใดแปลงหนึ่งได้เพียง 1 แปลงเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยได้จำหน่ายซองเสนอราคาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 และมีกำหนดชี้แจงรายละเอียดแก่ผู้ประสงค์จะยื่นชองเสนอราคา ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.30 น. ห้องประชุมสถานีรถไฟหนองคาย พร้อมกำหนดยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึงเวลา 10.00 น. ณ การรถไฟแห่งประเทศไทยภายหลังจากได้เอกชนดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่แล้ว จะทำให้เพิ่มและพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสากล รวมทั้ง ทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งทางรถไฟ รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย – ลาว – จีน ต่อไป

3.2 ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่ย่านนาทา จังหวัดหนองคาย (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต)รฟท.อยู่ระหว่างการพิจารณาพัฒนาพื้นที่นาทารองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่และเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของลานขนถ่ายสินค้า สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน, คลังสินค้า และอาคารประกอบอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงศูนย์การเอ็กซเรย์ (X-ray) ตู้สินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One-Stop Service โดยจะพัฒนาศูนย์ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) และ Container Yard โดยปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ซึ่งคาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนแล้วเสร็จในระยะเวลาประมาณ 2 ปี

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์