กรมการขนส่งทางราง จัดเวทีถ่ายทอดความรู้การคาดการณ์ความต้องการเดินทางของประชาชน เพื่อดำเนินโครงการ M – MAP 2


ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ และผ่านโปรแกรม Zoom Cloud Meetings เพื่อเป็นการฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้งานศึกษาแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region 2: M – MAP 2) โดยมีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สมาคมการผังเมืองไทย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพธนาคร จำกัด บริษัท ขนส่ง จำกัด บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด และ กทม. เข้าร่วมงาน

โดยภายในงาน ดร.พิเชฐ ได้กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นมีข้อตกลงร่วมกับประเทศไทยในการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อดำเนินโครงการ M-MAP 2 ที่ประเทศไทยกำลังเดินหน้าศึกษาอยู่ โดยประเทศญี่ปุ่นได้มอบหมายให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA เป็นหน่วยงานผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น ในการร่วมมือทางวิชาการกับฝ่ายไทย ซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นแผน M-MAP 2 Blueprint และในวันนี้ก็ยังได้รับความร่วมมือจาก JICA อีกครั้ง ในการส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมบรรยายถ่ายทอดความรู้ในหัวข้อ “แบบจำลองการคาดการณ์ผู้โดยสารระบบราง (Rail passenger demand forecasting models) ในประเทศญี่ปุ่น” เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การคาดการณ์ผู้โดยสารระบบรางในประเทศที่มีการพัฒนาระบบรางอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้แก่บุคลากรในแวดวงระบบรางของไทยได้นำไปปรับปรุงหรือพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและนำไปพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีความพร้อม และสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับแบบจำลองการคาดการณ์ผู้โดยสารระบบราง หรือ Rail passenger demand forecasting models นั้น เป็นการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในระบบรางที่มีความถูกต้องสูงในระดับจำนวนผู้โดยสารระหว่างสถานี และทดสอบนโยบายเกี่ยวกับระบบรางในกรุงเทพมหานครได้อย่างครอบคลุม เช่น การวิเคราะห์ทางเข้าออก การใช้ลิฟท์ บันไดเลื่อน การเข้าและออกจากสถานีด้วยระบบขนส่งอื่นๆ เพื่อให้ได้นโยบายที่เหมาะสม สถานีที่เหมาะสมกับจำนวนผู้โดยสาร การเข้าถึงสถานีที่เหมาะสม ช่วยให้ประชาชนเดินทางได้สะดวก ลดการแออัดของผู้โดยสาร เพิ่มเส้นทางใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางของประชาชน
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาแบบจำลอง การคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ร่วมบรรยายใน 3 หัวข้อ ได้แก่ การพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ผู้โดยสารระบบรางในต่างประเทศ แนวทางการพัฒนาแบบจำลองเชิงกิจกรรมเน้นการขนส่งทางราง และการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนทางราง จากนั้นเป็นการให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้สอบถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

สำหรับโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 นี้ เป็นการทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการรถไฟฟ้าตามแผน M-MAP เดิม พร้อมศึกษาแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) ให้เข้ากับโครงข่ายหลักของ M-MAP อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนศึกษามาตรการและแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมือง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบัน เพื่อยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์