กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับกรมศุลกากร เยือน สปป.ลาว หารือการส่งเสริมศักยภาพการขนส่งระบบรางระหว่างประเทศ

26 มกราคม 2566 กรมการขนส่งทางราง โดยนายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยนางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร และนายวุฒิ เร่งประดุงทอง นายด่านศุลกากรหนองคาย ร่วมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อส่งเสริมศักยภาพการขนส่งระบบรางผ่านแดนระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โครงการรถไฟจีน – ลาว เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกสาธารณรัฐประชาชนจีน มายัง สปป.ลาว และประเทศไทย เส้นทางรถไฟดังกล่าวมีความสำคัญในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมีการเชื่อมต่อโครงข่ายโดยสมบูรณ์จากจีน ลาวมายังไทยแล้ว จะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าตลอดเส้นทางได้ถึงร้อยละ 30 – 50 โดยใน 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อโครงสร้างพื้นฐานในส่วนนี้ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมมีการบริหารจัดการรองรับการขนส่ง เพื่อใช้ประโยชน์เส้นทางรถไฟสายนี้ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ จึงเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่จะร่วมกันยกระดับเศรษฐกิจในภูมิภาคให้มีเสถียรภาพและยั่งยืนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว ที่ด่านพรมแดนหนองคาย ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา รวมการนำเข้า – ส่งออกของประเทศ มีมูลค่าสูงถึง 99,223 ล้าน แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศรวมถึงการเดินทางของประชาชน แต่การค้าชายแดน ณ ด่านศุลกากรหนองคาย ซึ่งเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งของไทย-ลาว-จีน พบว่า ในปี 2565 การนำเข้า – ส่งออกสินค้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 กว่าร้อยละ 39.79 โดยเพิ่มขึ้นกว่า 28,244 ล้านบาทการลงพื้นที่ในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมหารือกับกรมพาสี ด่านพาสีสากลสินค้าท่าบกท่านาแล้ง สปป. ลาว ซึ่งด่านนี้มีความสามารถในการจัดเก็บภาษีถึงร้อยละ 29 ของด่านเก็บภาษีทั้งหมด พร้อมร่วมสำรวจความคืบหน้าการก่อสร้างสถานีรถไฟบ้านคำสะหวาด ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยสถานีบ้านคำสะหวาดเป็นสถานีที่ได้รับการสนับสนุนเงินกู้จากรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (NEDA) ตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟสายหนองคาย – เวียงจันทน์ ที่ขยายต่อมาจากสถานีท่านาแล้ง โดยห่างจากสถานีท่านาแล้ง 7.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ตัวสถานี ชั้น 1 ขนาด 6,300 ตารางเมตร ชั้น 2 ขนาด 3,600 ตารางเมตร ชานชาลาขนาด 3,600 ตารางเมตร จำนวน 2 ชานชลา เป็นระบบราง meter gauge ขนาด 1 เมตร ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่ทันสมัยและมีความพร้อมรองรับผู้โดยสาร มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบันไดเลื่อน ลิฟท์ รวมทั้งตัวอาคารได้มีการออกแบบให้มีอากาศสามารถถ่ายเทได้อย่างสะดวกลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นการลดการใช้พลังงานไปในตัวการเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทยและ สปป. ลาว ได้มีแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย – ลาว – จีน ในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ให้มีความเหมาะสมเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งสินค้า โดยสามารถจัดขบวนรถได้ถึง 14 ขบวนต่อวัน ขบวนละ 25 แคร่ และเมื่อสถานีรถไฟบ้านคำสะหวาด สปป.ลาว แล้วเสร็จจะทำให้การคมนาคมขนส่งระบบรางระหว่างไทยกับ สปป.ลาว มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เนื่องจาก ทางรถไฟจะสิ้นสุด ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งสามารถลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้า เกิดการลงทุนต่อเนื่อง สร้างโอกาสให้ภาคเอกชนไทยไปประกอบธุรกิจใน สปป.ลาวเช่น การรับสัมปทานบริหารจัดการ CY และบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในอาคารสถานีเวียงจันทน์แผนการดำเนินการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ได้เตรียมแผนการใช้ทรัพยากรสำหรับการให้บริการในเส้นทางดังกล่าว พร้อมจัดเตรียมแนวทางการจัดขบวนรถไฟรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย – ท่านาแล้ง เพื่อเชื่อมต่อไปยัง สปป.ลาว และในส่วนการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ได้จัดเตรียมแนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว โดยในระยะเร่งด่วนจะพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม ซึ่งเตรียมพื้นที่บริเวณสถานีประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากทางถนนสู่ระบบราง โดยจะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณ ลานยกขนสินค้า รวมทั้ง จัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่อง Mobile X-ray Inspection System เพื่อตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีการศุลกากรต่อไป การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าระยะยาวจะใช้พื้นที่ย่านนาทาที่ รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไปเมื่อสภาวะการณ์ผ่านช่วงสถานการณ์โควิด-19 แล้ว คาดการณ์ว่ามูลค่าทางการค้าที่บริเวณด่านหนองคาย ผ่านโครงข่ายรถไฟไทย-ลาว-จีน จะสร้างมูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยมีการเดินทางและขนส่งสินค้าหลายชนิดผ่านทางรถไฟจีน-ลาว มายังไทย อีกทั้งส่งเสริมการส่งออก การส่งสินค้าผ่านแดนของไทยไปยังจีน หรือประเทศที่สาม ได้แก่ ผักผลไม้สดแช่เย็น สิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักร เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนรถยนต์ ยางพารา และไม้แปรรูป การเตรียมความพร้อมดังกล่าว รวมทั้งการส่งเสริมของภาครัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนผู้ประกอบการจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกัน

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์