กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ลงพื้นที่จังหวัดระยอง-จันทบุรี ผลักดันการขนส่งสินค้าทางรางแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ลดต้นทุน ลดเวลา เพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่เวทีตลาดโลก

1 มีนาคม 2566 : นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่กำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคการขนส่งสินค้าทางรางที่จังหวัดระยอง-จันทบุรี ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) และคณะตรวจเยี่ยมจากกรมการขนส่งทางราง สำรวจความต้องการของผู้ประกอบกิจการขนส่งทางรางแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) เพื่อส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางราง ให้มีมาตรฐานและรองรับความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกระดับการส่งออกของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติการลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ร่วมด้วยนายณรงค์ ชูสลับ นายสถานีรถไฟมาบตาพุด เจ้าหน้าที่จากบริษัท เก้าเจริญ เทรน ทรานสปอร์ต จำกัด และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ได้มีการหารือในเรื่องกระบวนการการขนส่งสินค้าทางราง แบบควบคุมอุณหภูมิ พร้อมรวบรวมปัญหาอุปสรรคและหาแนวทางแก้ไขในกระบวนการการขนส่งสินค้าทางรางแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งผลไม้ผ่านระบบการขนส่งทางรางเพิ่มขึ้น อันก่อให้เกิดการลดต้นทุนการขนส่ง ลดระยะเวลาในการขนส่ง ทำให้สินค้าเกษตร ผัก ผลไม้ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปี 2565 มีปริมาณผลผลิต 1,250,000 ตัน ปริมาณการส่งออกทุเรียน 916,671 ตัน และมูลค่าการส่งออกทุเรียน 125,787 ล้านบาท ส่วนมากส่งออกทุเรียนไปจีน จำนวน 878,721 ตัน และมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนไปจีน จำนวน 120,922 ล้านบาท ซึ่งทุเรียนสดมีปริมาณและมูลค่าการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือ ทุเรียนแช่เย็นจนแข็ง โดยสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดการณ์แนวโน้มผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยในปี 2566 จะมีทุเรียนรวมทั้งประเทศประมาณ 1,492,819 ตัน โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางอยู่ระหว่างผลิตต้นแบบตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิตามมาตรฐานให้พร้อมทดสอบใช้งานรองรับการขนส่งทุเรียนจากภาคใต้ซึ่งจะมีผลผลิตปลายปีการส่งเสริมการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิผ่านการขนส่งทางราง จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้ง งานวิจัยและโครงการความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐดังกล่าว ถือเป็นจุดสำคัญในการการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบมาใช้การขนส่งทางรางมากขึ้น ก่อให้เกิดการสร้างศักยภาพทั้งการเดินทางการขนส่งทางราง ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางรางได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์