กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ พร้อมทั้งตรวจสถานีหัวหินภายใต้กิจกรรมสถานีดีพร้อม

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ขร. ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางคู่สายใต้ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่เป็น Project Pipeline ที่มีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานะความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระยะทาง 421 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 โครงการ ดังนี้
1. ช่วงนครปฐม – หัวหิน แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่- สัญญาที่ 1 (นครปฐม – หนองปลาไหล) ระยะทาง 93 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 96.084- สัญญาที่ 2 (หนองปลาไหล – หัวหิน) ระยะทาง 76 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 94.844

2. ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 99.870

3. ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร แบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่- สัญญาที่ 1 (ประจวบคีรีขันธ์ – บางสะพานน้อย) ระยะทาง 88 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงาน ร้อยละ 85.077- สัญญาที่ 2 (บางสะพานน้อย – ชุมพร) ระยะทาง 79 กิโลเมตร ความคืบหน้าผลงานร้อยละ 87.295

โดยถ้านับภาพรวมของผลการดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ (ช่วงนครปฐม – ชุมพร) ถือว่าแล้วเสร็จไปกว่า 92.813 % ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการการเดินรถทางคู่สายใต้ (นครปฐม – ชุมพร) ได้บางช่วงเฉพาะในเส้นทางที่มีระบบอาณัติสัญญาณ เท่านั้น และจะเป็นการเดินรถระบบกึ่งอัตโนมัติจากต้นทาง กทม. มายังสถานีหัวหิน ซึ่งการเดินรถจะไวขึ้น เร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง เหลือเพียงประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการคืนทางเดินรถให้แก่ประชาชน และจะมึการเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้

นอกจากนั้น ยังมีการก่อสร้าง “สถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย เป็นหนึ่งในงานก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วง นครปฐม – ชุมพร (ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน)

โดยสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่นี้ เป็นโครงสร้างยกระดับ มีที่ทำการและที่พักคอยอยู่ชั้นล่าง ชานซาลาอยู่ชั้นบน การออกแบบยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเดิมที่ออกแบบตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย ซึ่งมีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ตั้งอยู่ถัดจากสถานีหัวหินเดิไปทางทิศใต้ โดยปัจจุบันมีความคืบหน้างานก่อสร้างร้อยละ 80 งานตกแต่งสถาปัตยกรรมร้อยละ 30 และงานระบบไฟฟ้าและเครื่องของสถานีร้อยละ 20 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2565 ทั้งนี้อาคารสถานีเดิมยังคงอนุรักษ์ไว้ โดยมีแผนที่จะพัฒนาให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และทางรถไฟที่ผ่านสถานีเดิมยังใช้งานอยู่ โดยไว้สำหรับขบวนรถสินค้าและขบวนรถพิเศษในโอกาสสำคัญ

จากนั้น ดร.พิเชฐ ได้ลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานีรถไฟหัวหิน ภายใต้กิจกรรมประกวด “สถานีดีพร้อม” โดยมีการประเมินโดยรวมทั้งหมด 8 ด้านประกอบไปด้วย
1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า – ออก ในการรองรับ การใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร
2. ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น
3. ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง
4. ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID – 19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน
5. ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ
6. ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ
7. ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่
8. ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี

ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565 นี้ จะมีการเดินสายตรวจประเมินคุณภาพทุกสถานีที่เข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟ ทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี เพื่อคัดเลือกอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาในเดือนมิถุนายน และตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อไป

กรมการขนส่งทางรางจะทำหน้าที่กำกับดูแล ติดตาม การดำเนินการต่างๆเพื่อพัฒนาการขนส่งทางรางให้ประชาชนได้รับการบริการที่ดีขึ้น ตรงเวลา และปลอดภัย

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์