การประชุมด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกลด้วยวิดีทัศน์

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกลโดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจาก Railway Bureau MLIT JRTT และ Embassy of Japan โดยประเด็นการหารือ ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่

1.) ผลการดำเนินงานการประมาณการความต้องการเดินทาง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาโดยอ้างอิงข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย แบบสำรวจความต้องการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง และข้อมูลปริมาณการความต้องการเดินทางในการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่

2.) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร (Station Plaza) และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ระหว่างประชาชนสู่ระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาซื่งการพัฒนาพื้นที่ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้นของสถานีลพบุรี โดยจะใช้การออกแบบจากสถานีรถไฟชินคันเซ็น (Shinkansen) ในประเทศญี่ปุ่น

3.) การพัฒนาภูมิภาครอบสถานีรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอกรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่สถานีชิจิโนเฮะ – โทวาดะซึ่งเป็นสถานีที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน โดยบริเวณสถานีมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ ฯลฯ นำมาซึ่งการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

พร้อมนี้ฝ่ายญี่ปุ่นนำเสนอแผนการศึกษาในปี 2021 โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2564 และจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 ทั้งนี้ทางกรมการขนส่งทางรางได้ขอคำแนะนำทางฝ่ายญี่ปุ่นในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งมรดกโลก อย่างเช่น บริเวณสถานีเกียวโตซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดโทจิที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อปี 2537

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์