วันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมอินฟินิตี้ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์โครงการศึกษาและจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ โดยมีหน่วยงานภาครัฐรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วม
โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการศึกษา รวบรวม ประมวลมาตรฐานสากลและกรณีศึกษาด้านการขนส่งทางรางจากประเทศต่างๆ อาทิ Comet and Nova, EN 13816, International Transport Forum (ITF), Platform of Railway Infrastructure Managers in Europe (PRIME), Rail Net Europe (RNE), กรณีศึกษาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับบริบทประเทศไทย ประกอบศึกษาเสนอตัวชี้วัดในการกำกับประสิทธิภาพระบบขนส่งทางราง รวม 7 ด้าน ประกอบด้วย 1) ประสิทธิภาพด้านระบบ (System scope) 2) ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ (Asset Utilization) 3) ประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรบุคคล (Human Resource Utilization) 4) ประสิทธิภาพด้านดำเนินงาน (Operational Performance) 5) ประสิทธิภาพด้านการเงิน (Financial Performance) 6) ประสิทธิภาพด้านการบริการ (Customer-Centric Performance) และ 7) ประสิทธิภาพการจัดการด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม (Environmental Occupational Health and safety Management) โดยมีการบูรณาการและการมีส่วนร่วมจากกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หน่วยงานในระดับนโยบายและแผน ผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกระบบ ภาคประชาชน สถาบันและสมาคมวิชาชีพด้านการขนส่ง รวมทั้งการเก็บรวบรวมความเห็นและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการขนส่งทางราง เพื่อประกอบการดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว โดยสามารถสรุปผลลัพธ์ของโครงการที่สำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
1. ตัวชี้วัดในระดับกำกับ หรือ Regulatory Indicator (RI) จำนวน 19 ตัวชี้วัด และการกำหนดค่าเป้าหมายของตัวชี้วัด ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล ประเมินผลและติดตามการประกอบกิจการระบบขนส่งทางรางครอบคลุมทุกประเภท ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง ระบบรถไฟระหว่างเมืองและรถไฟขนส่งสินค้า รวมทั้งระบบรถไฟฟ้าในภูมิภาคและรถไฟความเร็วสูง
2. ระบบการจัดเก็บข้อมูลตัวชี้วัดในรูปแบบ Dashboard ที่ออกแบบโดยมีแนวคิด ให้มีความสะดวก ง่ายต่อการใช้งานของกรมการขนส่งทางรางในการกำกับ ติดตามและประเมินผลประสิทธิภาพในแต่ละด้าน และไม่เป็นภาระต่อหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางในการนำเข้าข้อมูล
3. ผลการประเมินคุณภาพสถานี ภายใต้กิจกรรมการประกวดสถานีดีพร้อม ภายใต้กิจกรรม “กรมรางสร้างสุข… ด้วยคุณภาพดีพร้อม” “DRT creates happiness of stations” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสถานี ตลอดจนการบริการและการเดินทางเชื่อมต่อรอบสถานี โดยสนับสนุนให้หน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางราง นายสถานี ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความตระหนักรู้และสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพสถานีและการบริการให้ได้มาตรฐานตามเกณฑ์พื้นฐานที่อ้างอิงตามมาตรฐานสากล 8 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) 2) ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) 3) ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) 4) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) 5) ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) 6) ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design 7) ด้านการให้บริการ (Customer Care) และ ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) โดยกิจกรรมดังกล่าว มีสถานีที่สนใจเข้าร่วมสมัครมาทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็นกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศจำนวน 15 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี สรุปผลการตัดสิน ได้ดังนี้
กลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเชียงใหม่รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีชุมทางหาดใหญ่รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีนครราชสีมา สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ
กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเพชรบุรี (BL21)รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีหมอชิต (N8)รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีสุขุมวิท (BL22) สถานีลาดพร้าว (BL15) และสถานีแยก คปอ. (N23)
โดยกรมการขนส่งทางรางจะได้รายงานผลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเสนอให้มีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการต่อไป
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะใช้ตัวชี้วัดระดับกำกับ หรือ Regulatory Indicator (RI) ทั้ง 19 ตัวดังกล่าว ที่ใช้ในการวัดผลการประกวด มาดำเนินการตรวจสถานีทั้งรถไฟระหว่างเมือง และรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมืองทุกสถานี เพื่อเป็นเกณฑ์ในการประเมินการให้บริการ คุณภาพสถานี และอื่นๆ โดยจะมีการใช้ระบบ Dashboard ในการกำกับดูแลติดตามและประเมินผลการดำเนินการของผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกระบบ ให้สามารถจัดส่งข้อมูลต่างๆ ที่มีผลต่อการใช้บริการของประชาชน หากสถานีไหนขาดตกบกพร่องประการใด ทางกรมการขนส่งทางรางจะมีการส่งหนังสือ เพื่อให้ผู้ให้บริการปรับปรุงในเรื่องต่างๆ เพื่อเป็นการยกระดับและส่งเสริมการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศไทยสู่มาตรฐานระดับสากล เพื่อความสะดวกและปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางราง ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลซึ่งมุ่งพัฒนาให้ระบบขนส่งทางรางเป็นระบบการเดินหลักของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
หน่วยงานที่ประกาศ
กลุ่มประชาสัมพันธ์