นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่ปัจจุบันได้มีการนำร่องตามนโยบายในรถไฟฟ้า 2 สายแรก ได้แก่ สายสีม่วง (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) และสายสีแดง (สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรังสิต และ สถานีตลิ่งชัน) ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยสร้างโอกาสให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนได้
– โอกาสที่ 1 ลดค่าใช้จ่าย-เพิ่มกำลังซื้อ
หากคิดภาระค่าเดินทางในวันทำงานที่มีค่าโดยสารระหว่าง 16-42 บาทต่อเที่ยว จะมีค่าใช้จ่ายตลอดปีประมาณ 7,712–20,244 บาท แต่เมื่อค่าโดยสารลดเหลือ 20 บาท/เที่ยว จะลดภาระค่าเดินทางสูงสุดเหลือเพียง 9,640 บาท หรือคิดเป็นประมาณ 48% ของภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางตลอดปีตามนโยบายค่าโดยสารเดิม
– โอกาสที่ 2 การขยายตัวของชุมชน-ย่านธุรกิจใหม่
ค่าโดยสารระยะไกลที่ถูกลง เข้าถึงได้ง่าย ทำให้เราไม่ต้องกังวลถึงภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางระยะไกล นำไปสู่การขยายตัวของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ย่านธุรกิจ และที่อยู่อาศัยในบริเวณชานเมืองใหม่ในระดับคุณภาพที่มีภาระต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ลดลง
– โอกาสที่ 3 เกิดทำเลการค้าขายใหม่
ผลจากการเกิดขึ้นของย่านธุรกิจ-ที่อยู่อาศัยชานเมืองใหม่ ทำให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในชุมชนและสร้างการค้าขึ้นมาใหม่มากยิ่งขึ้น และยังส่งผลให้สามารถเข้าถึงกิจกรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้นด้วยภาระค่าเดินทางที่ลดลง จึงส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น
– โอกาสที่ 4 คุณภาพชีวิตและสุขภาวะที่ดีขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ลดลงส่งผลให้ลดความแออัดบริเวณใจกลางเมืองเช่นเดียวกัน เพราะประชาชาชนไม่จำเป็นต้องเข้าอาศัยบริเวณใจกลางเมืองเพียงอย่างเดียว ยังสามารถเข้ามาท่องเที่ยวพักผ่อนบริเวณใจกลางเมืองจากระยะใกล้และระยะไกลได้ด้วยค่าโดยสารที่ถูกลงและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
– โอกาสที่ 5 ภาษีที่เป็นธรรม ภาษีที่ได้จากประชาชนโดยเฉพาะจากมนุษย์เงินเดือนที่เป็นผู้โดยสารกลุ่มหลักนั้นจะถูกนำมาใช้ในการชดเชยค่าโดยสารเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และรัฐบาลมีโอกาสเก็บภาษีจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และมีรายได้จากภาษีลาภลอย (Windfall Tax) จากการขยายตัวของโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานทำให้อสังหาริมทรัพย์บริเวณใกล้เคียงมีมูลค่าที่สูงยิ่งขึ้น
หน่วยงานที่ประกาศ
กลุ่มประชาสัมพันธ์