กรมการขนส่งทางรางจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2 /2564

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางรางได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 2 /2564 ในวันที่ 6 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง โดยมี อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ขร. และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทล. ทช. รฟม. รฟท. รฟฟท. T4A BTS BEM กทม. ขสมก. และผู้แทน เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom สรุปสาระสำคัญการประชุมได้ ดังนี้
1 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการกำหนดชื่อสถานีรถไฟฟ้าบางแห่งที่เป็นประเด็นหารือสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยได้มีมติเห็นชอบการกำหนดชื่อสถานีภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ดังนี้
1.1 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู วัดชลประทาน กำหนดให้เป็น กรมชลประทาน (Royal Irrigation Department) เนื่องจากที่ตั้งอยู่หน้ากรมชลประทาน
1.2 สถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพู สินแพทย์ กำหนดให้เป็น รามอินทรา กม.9 (Ram Inthra Kor Mor 9) เพื่อให้สอดคล้องกับชื่อเรียกย่านในบริเวณดังกล่าว
1.3 สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง ผ่านฟ้า กำหนดชื่อเป็นสถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) เช่นเดียวกับ สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (Democracy Monument) โดยมีรหัสสถานีที่แตกต่างกัน เนื่องจากให้สอดคล้องกับ Landmark ในบริเวณดังกล่าวและเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กันในระยะเดินถึง
1.4 สถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง วงเวียนใหญ่เหนือ กำหนดชื่อเป็นสถานีวงเวียนใหญ่ (Wongwian Yai) เพื่อให้สอดคล้องกับ Landmark ในบริเวณดังกล่าว
1.5 สถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง พัฒนาการ กำหนดชื่อเป็น หัวหมาก (Hua Mak) เนื่องจากที่ตั้งอยู่บนถนนศรีนครินทร์ อยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวหมาก และสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมากในระยะประมาณ 200-300 เมตร ซึ่งเป็นระยะเดินถึงและเป็นย่านที่ประชาชนคุ้นชินแล้ว ควรที่จะใช้ชื่อเดียวกันเพื่อลดความสับสนของผู้ใช้บริการ โดยมีรหัสสถานีที่แตกต่างกัน

2. พิจารณาการปรับปรุงสภาพกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สถานีดอนเมืองและสถานีหลักหก) ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ ที่จอดรถสำหรับคนพิการ ทางลาดสำหรับคนพิการและผู้มีสัมภาระแบบล้อลาก ห้องน้ำคนพิการ และระบบป้ายบอกทางและป้ายสัญลักษณ์ รวมทั้งการซ่อมแซมบำรุงรักษาสภาพกายภาพภายในสถานีให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมพร้อมใช้งาน เป็นต้น โดย รฟท. และ รฟฟท. ได้รับความเห็นฝ่ายเลขานุการไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. พิจารณาการปรับปรุงรูปแบบการติดตั้งระบบพื้นผิวต่างสัมผัสภายในสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่มีการติดตั้งไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานที่กระทรวงคมนาคมและสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้กำหนดไว้ เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือเป็นอุปสรรคในการสัญจรของผู้ใช้บริการ โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติมอบหมายให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับไปดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการติดตั้งระบบพื้นผิวต่างสัมผัสชนิดเตือนทาง บอกทิศทาง และนำทาง ให้ถูกต้อง เหมาะสม สอดคล้องตามมาตรฐานสากลหรือมาตฐานตามที่กระทรวงคมนาคมและสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้กำหนดไว้

4. พิจารณาแนวทางการกำหนดรหัสสีของเส้นทางรถไฟฟ้าให้เป็นมาตรฐานกลางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยคณะกรรมการฯ ได้มีมติดังนี้
4.1 เห็นสมควรให้มีการกำหนดรหัสสีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นมาตรฐานในการนำไปใช้งานจัดทำป้ายสัญลักษณ์ แผนที่ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบสอดคล้องกัน
4.2 เห็นสมควรเสนอให้ใช้รหัสสีตามที่หน่วยงานรับผิดชอบได้กำหนดไว้เดิม เช่น สายสีเขียว ทอง เทาให้ยึดตามรหัสสีของ กทม./BTS สายสีน้ำเงิน ม่วง ส้ม เหลือง ชมพู ให้ยึดตามรหัสสีของ รฟม. สายสีแดง ให้ยึดตามรหัสสีของ รฟท.
4.3 กรณีรหัสสีของเส้นทางระบบรางในอนาคต ให้หลีกเลี่ยงการใช้สีที่ใกล้เคียงกับสีที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้พิการประเภทตาเห็นเลือนราง หากหลีกเลี่ยงการใช้สีซ้ำหรือใกล้เคียงกันไม่ได้ ควรที่จะกำหนดชื่อเส้นทางประกอบกับรหัสสี เพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใจได้ โดยเห็นสมควรให้หน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางเสนอ ขร. พิจารณา เพื่อเสนอ คค. ให้ความเห็นชอบ ก่อนการดำเนินการจริง

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์