กรมการขนส่งทางรางจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 3/2564

ในวันที่ 29 กันยายน 2564 ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางรางเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 3/2564 โดยประชุมหารือร่วมกับกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ทล. ทช. รฟม. รฟท. รฟฟท. BTS BEM กทม. ขสมก. และบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด รวมทั้งตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) และ Accessibility is Freedom เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom โดยมีประเด็นหารือร่วมกันถึงแนวทางการแก้ไขปัญหามาตรฐานการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ในความรับผิดชอบของบริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด การกำหนดมาตรฐานรหัสสีเส้นทางระบบขนส่งทางรางให้เป็นเอกภาพ การปรับปรุงทางเชื่อมต่อ (skywalk) ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหัวหมากกับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมากเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และการปรับปรุงชื่อสถานีในระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพู

คณะกรรมการฯ ได้มีการพิจารณาโดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.พิจารณารับฟังความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและติดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 25694 เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินการปรับปรุงระบบผิวต่างสัมผัสภายในสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ในความรับผิดชอบของบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีการติดตั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานของสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมหรือมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับ ซึ่ง ขร. สมาคมสภาพคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย T4A และ Accessibility is Freedom ได้มีการตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงรูปแบบการติดตั้งระบบพื้นผิวต่างสัมผัส ชนิดเตือนทาง นำทางและเปลี่ยนทิศทางให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามกฎหมายมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามฯ และมาตรฐานของกระทรวงคมนาคมซึ่งได้มีการกำหนดให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานบริการขนส่งต่างๆ ถือปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานกลางอย่างเป็นเอกภาพ และเพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดปัญหาอุปสรรคในการเดินทางของผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ เช่น ผู้ใช้วีลแชร์ ผู้สูงอายุ ผู้มีสัมภาระแบบล้อลาก ผู้สวมรองเท้าส้นสูง เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ได้ให้ความเห็นว่า การจัดทำระบบพื้นผิวต่างสัมผัสทั้งชนิดเตือนทาง นำทาง และบอกทิศทางที่ได้ติดตั้งภายในสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์นั้น ไม่ได้มีเจตนาเพียงให้ใช้กับผู้พิการทางสายตา แต่ใช้สำหรับนำสายตาแก่ผู้ใช้บริการรายอื่นๆ ด้วย จึงได้มีการออกแบบติดตั้งให้มีความกว้างมากกว่าปกติ (กว้าง 60 ซม. – 90 ซม.ในบางช่วง) โดยเห็นว่าไม่ได้เป็นปัญหาแก่ผู้ใช้บริการรายใด และยังไม่ได้มีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามมติที่ประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2564 คณะกรรมการฯ จึงมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการรับฟังความเห็นที่ประชุมและรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้ รฟท. ในฐานะเจ้าของสัมปทานและบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับข้อคิดเห็นในที่ประชุมกลับไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

2.พิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานรหัสสีเส้นทางระบบขนส่งทางรางให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการจัดทำป้ายสัญลักษณ์ แผนที่ ข้อมูลการบริการของหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และป้องกันปัญหาการกำหนดสีเส้นทางที่ซ้ำซ้อนกันอันก่อให้เกิดปัญหาความสับสนแก่ผู้ใช้บริการทั่วไป รวมทั้งคนพิการทางการเห็น (ประเภทตาบอดสีหรือเห็นเลือนลาง) ซึ่งมีข้อจำกัดในการรับรู้สีที่แตกต่างจากคนทั่วไป โดยสามารถได้ข้อสรุปในการกำหนดรหัสสีเส้นทาง ในระบบCMYK แล้ว 10 สาย ตามตารางในรูป ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการหารือกรณีบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เสนอขอใช้รหัสสีเขียว (CMYK 92/0/96/0) แทนเส้นทางแอร์พอร์ตลิงก์ (City Line) และสีส้ม (ยังไม่กำหนดรหัสสี) แทนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากเป็นการตัดสินใจจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัท เนื่องจากเป็นสีแทนอัตลักษณ์ขององค์กรและเป็นการออกแบบเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การบริการนั้น ผลการพิจารณา สรุปดังนี้
2.1 เห็นชอบในหลักการกำหนดรหัสสีที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ทุกหน่วยงานใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการนำไปใช้งานจัดทำป้ายสัญลักษณ์ แผนที่ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบสอดคล้องกัน
2.2 เห็นชอบให้ใช้รหัสสีตามที่หน่วยงานรับผิดชอบได้กำหนดไว้เดิม เช่น สายสีเขียว สีทอง สีเทา ให้ยึดตามรหัสสีของ กทม./BTS สายสีน้ำเงิน สีม่วง สีส้ม สีเหลือง และชมพู ให้ยึดตามรหัสสีของ รฟม. และสายสีแดง ให้ยึดตามรหัสสีของ รฟท.
2.3 กรณีการกำหนดรหัสสีของเส้นทางระบบขนส่งทางรางในอนาคต เห็นชอบให้หน่วยงานผู้ให้บริการ หลีกเลี่ยงการใช้สีที่ใกล้เคียงกับสีที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะคนพิการประเภทตาเห็นเลือนราง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สีซ้ำหรือใกล้เคียง ให้กำหนดชื่อเส้นทางประกอบกับรหัสสี เพื่อสื่อสารให้ผู้ใช้บริการเข้าใจ โดยให้เสนอ ขร. พิจารณารหัสสี เพื่อเสนอ คค. ให้ความเห็นชอบ ก่อนดำเนินการจริง
2.4 การกำหนดรหัสสีควรเลือกใช้สีให้เหมาะสมสำหรับคนพิการทางการเห็น (ประเภทตาบอดสีหรือเห็นเลือนราง) หากใช้สีเดียวกันแต่มีความต่างเฉดที่มากกว่าง 2 เฉดสี อาจทำให้สร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการทั่วไป และคนพิการทางการเห็นได้ กรณีสีเขียวปัจจุบันมีการใช้อยู่ 2 เฉดสีแล้ว ในสายสีลม และสายสุขุมวิท และสายสีเขียวมีจุดเชื่อมต่อกับสถานีแอร์พอร์ตลิงก์พญาไท อาจสร้างความสับสนในการสื่อสารข้อมูลเส้นทางในแผนที่และป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ส่วนกรณีรถไฟฟ้าสายสีส้มในความรับผิดชอบของ รฟม. มีแนวเส้นทางที่ขนาดกับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วยจะก่อให้เกิดผลกระทบได้
2.5 พิจารณาจากกรณีศึกษาในต่างประเทศ การใช้สีแทนเส้นทาง มีการใช้สีเดียวกันแต่ต่างเฉดกัน ไม่เกิน 2 เฉด และมีการกำหนดชื่อเส้นทาง ซึ่งแตกต่างจากบริบทไทยที่ตั้งชื่อเส้นทางด้วยสี เช่น สายสีส้ม สายสีม่วง หากมีการใช้สีเดียวกันที่แตกต่างกันมากกว่า 2 เฉดสี อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อกัน หากใช้สีเดียวกันหรือมีเฉดที่ใกล้เคียงกันมาก
2.6 แนวเส้นทางและสีเส้นทางที่กำหนดตามผลการศึกษา Mmap และ Rmap ผ่านการเห็นชอบจาก คจร. และ ครม. แล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามที่บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด แจ้งนั้น จำเป็นต้องเสนอ คจร. เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการ
2.7 กรมการขนส่งทางรางในฐานะ Regulator ควรเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ประกอบการขนส่งทางรางทุกรายให้มีเอกภาพ และมีความเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในการกำหนดมาตรฐานรหัสสี รวมทั้งมาตรฐานการออกแบบสภาพกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกที่กระทบต่อคุณภาพการบริการของประชาชน ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการสรุปผลและรายงานกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาและมอบหมายให้บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด รับความเห็นที่ประชุมไปพิจารณาทบทวนการดำเนินการต่อไป

3. พิจารณาการจัดทำ Skywalk เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหัวหมากกับสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์หัวหมาก เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางเชื่อมต่อทั้งสองระบบ โดยมอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการออกแบบและประเมินราคาค่าก่อสร้างในการจัดทำ Skywalk ในบริเวณดังกล่าว เพื่อร่วมกับพิจารณากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ขร. รฟฟท. และ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ก่อนพิจารณากำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินการต่อไป

4. พิจารณาการกำหนดชื่อสถานีในระบบรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี โดยมอบหมายให้ รฟม. และ ขร. ลงพื้นที่เพื่อสำรวจทำเลตำแหน่งสถานี และตรวจสอบข้อมูลปัจจุบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในการกำหนดชื่อสถานี 4 แห่ง ได้แก่ สถานีเมืองทองธานี (PK09) สถานีศรีรัช (PK10) สถานีทีโอที (PK13) สถานีอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ (MT01) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี (MT02) ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและมีความเหมาะสมต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์