การประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง

วันนี้ (17 พ.ค. 2564) นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานการขนส่งทางราง ครั้งที่ 4-2/2564 ณ ห้องประชุมมนังคสิลา ชั้น 2 อาคาร ณ ถลาง กรมการขนส่งทางราง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Zoom ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และกองมาตรฐานความปลอดภัยและบำรุงทาง กรมการขนส่งทางราง ในฐานะฝ่ายเลขานุการ

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างมาตรฐาน จำนวน 3 มาตรฐาน ได้แก่1) มาตรฐานการออกแบบทางรถไฟชนิดไม่มีหินโรยทาง สำหรับทางขนาด 1,435 มิลลิเมตร (Ballastless Track Design) ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างทาง 2 ประเภทใหญ่ คือ โครงสร้างทางแบบไม่มีหินโรยทางประเภทมีจุดรองรับต่อเนื่องหรือรางแบบฝัง (Embeded Rail System : ERS) และโครงสร้างทางแบบไม่มีหินโรยทางประเภทพื้นทางคอนกรีตเสริมเหล็กแบบต่อเนื่องที่มีระบบยึดเหนี่ยวราง (Continuous Reinforced Concrete (CRC) Slab Track System) โดยมาตรฐานดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับระบบขนส่งทางรางในเมือง ชานเมืองและระหว่างเมืองที่มีขนาดทางกว้าง 1,435 มิลลิเมตร

2) มาตรฐานการตรวจสอบความเสียหายของรางรถไฟ (Rail Inspection) ซึ่งมาตรฐานนี้ได้แบ่งประเภทความเสียหายของรางเป็น รางที่เสียหาย (Damage rail) รางที่ร้าว (Cracked rail) และรางที่แตกหัก (Broken rail) การจัดกลุ่มประเภทและกำหนดรหัสความเสียหายของราง ตามลักษณะความเสียหายที่ตำแหน่งต่างๆ ของรางซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้ง International Railway Solution (IRS 70712 : Rail Defects) และ Union International of Railway (UIC 712 R – Rail Defects) รวมถึงวิธีการตรวจสอบ และคำแนะนำในการบำรุงรักษา ซึ่งนำมาใช้กับการตรวจสอบความเสียหายของรางรถไฟได้ทุกประเภท

3) มาตรฐานระบบบังคับสัมพันธ์บนโครงข่ายรถไฟสายประธาน (Interlocking System on Mainline Train) ซึ่งมีการกำหนดคุณลักษณะและคุณสมบัติพื้นฐานของระบบบังคับสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบอาณัติสัญญาณควบคุมการเดินรถ สำหรับรถไฟสายประธานในประเทศไทยของการรถไฟแห่งประเทศไทย

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างมาตรฐานทั้ง 3 มาตรฐานดังกล่าว พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ปรับปรุงมาตรฐานตามความเห็นที่ประชุม ก่อนนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมาตรฐานดังกล่าวข้างต้นไปบังคับใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางอยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา มาตรฐานด้านเครื่องกลและตัวรถขนส่งทางราง มาตรฐานด้านไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางอื่นๆ เพื่อลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการขนส่งทางรางของประเทศไทยให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กรมการขนส่งทางราง

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์