การประชุมคณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อและรูปแบบการเดินรถไฟเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ครั้งที่ 2/2565

ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อฯ ได้มีการประชุมพิจารณาผลการประเมินความพร้อมในการให้บริการของสถานีกลางบางซื่อและสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการเพื่อให้บริการผู้โดยและมาตรการเยียวยา กรณีกรณีย้ายสถานีปลายทางของขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์สายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มายังสถานีกลางบางซื่อ

วันนี้ (2 ก.พ. 65) นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อและรูปแบบการเดินรถไฟเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ครั้งที่ 2/2565 โดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง อนุกรรมการและเลขานุการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย สภาวิศวกร สภาองค์กรของผู้บริโภค และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมเป็นอนุกรรมการ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting

คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาผลการประเมินคุณภาพสถานีรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และสถานีกลางบางซื่อ โดยใช้เกณฑ์การประเมินแบบ Likert Scale แบ่งเป็นค่าคะแนน 5 ระดับ ได้แก่ ต่ำที่สุด (0-1 คะแนน) ต่ำ (1.1-2 คะแนน) ปานกลาง (2.1-3 คะแนน) มาก (3.1-4 คะแนน) มากที่สุด 4.1-5 คะแนน โดยผลการประเมินฯ พบว่า สถานีกลางบางซื่อ มีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ 3.3 สถานีในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเหนือ มีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ 3.0 และสถานีในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงตะวันตก มีค่าเฉลี่ยคะแนนที่ 2.6  คิดเป็นค่าเฉลี่ยรวมทั้งระบบ เป็น 3.0 ซึ่งอยู่ในระดับปานกลาง ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำในการเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยมีประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริการมากยิ่งขึ้น ในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านการเชื่อมต่อการเดินทาง ด้านการออกแบบเพื่อคนทุกคน และด้านความปลอดภัย เป็นต้น โดยคณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบผลการประเมินคุณภาพสถานีฯและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำรายงานผลการประเมินดังกล่าวเสนอต่อปลัดกระทรวงคมนาคมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 1061/2564 สั่ง ณ วันที่ 24 ธ.ค. 2565 เพื่อมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับปรุงตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ โดยด่วนเพื่อให้สถานีกลางบางซื่อและสถานีในระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงมีความพร้อมในการให้บริการต่อไป สรุปประเด็นข้อเสนอแนะได้ ดังนี้

1. ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและสภาพกายภาพเพื่อรองรับการใช้งานของคนทุกคน ได้แก่

– ปรับปรุงตะแกรงระบายน้ำให้วีลแชร์เข็นผ่านได้

– จัดทำทางลาดบริเวณทางเท้ารอบสถานีให้มีความครอบคลุมต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณจุด Drop-off

– ซ่อมแซมอุปกรณ์ สุขภัณฑ์ ระบบไฟส่องสว่าง สิ่งอำนวยความสะดวกและปรับปรุงสภาพกายภาพภายใน-ภายนอกสถานี ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และเพื่อเป็นภาพลักษณ์อันดีของระบบ

– จัดให้มีเคาน์เตอร์หรือจุดบริการสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ เพื่อรองรับผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าว ณ สถานีขนาดใหญ่ เช่น สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง และสถานีรังสิต เป็นต้น

– จัดให้มีเคาน์เตอร์เตี้ย เพื่อบริการหรือจำหน่ายตั๋วสำหรับผู้ที่ใช้วีลแชร์ในสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงตะวันตก ทั้ง 3 สถานี ได้แก่ บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน

– ปรับปรุงให้มีเส้นเตือนบนชั้นชานชาลา ในระยะห่างจากขอบชานชาลา อย่างน้อย 60 ซม. ไม่เกิน 75 ซม. หรือจัดให้มีแผงกันตกหรือ PSD บริเวณขอบชานชาลา (ตามกฎกระทรวงฯ ปี 64 ของ มท.)

– จัดให้มีระบบพื้นผิวต่างสัมผัสทั้งเตือนทางและนำทาง สอดคล้องตามที่กฎกระทรวงฯ ปี 64 ของ มท. กำหนด

2. ปรับปรุงระบบการให้ข้อมูล ระบบป้ายสัญลักษณ์ ป้ายบอกทาง และเสียงประกาศ ได้แก่

– ปรับปรุง จัดให้มีระบบป้ายบอกทาง ป้ายสัญลักษณ์ที่เป็นป้ายถาวร และใช้สัญลักษณ์ภาพ (Pictogram) ที่เป็นมาตรฐานและเอกภาพเดียวกันทั้งระบบ เพื่อสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่จำเป็นในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ

– ติดตั้งเฉพาะป้ายที่บอกข้อมูลการเดินทางในปัจจุบัน โดยปรับปรุงหรือปิดป้ายที่เป็นข้อมูลการเดินทางในอนาคตออก เพื่อลดความสับสนในการใช้บริการของผู้โดยสาร แก้ไขป้ายที่มีการใช้รูปสัญลักษณ์หรือลูกศรที่ผิดให้ถูกต้อง

– จัดให้มีเสียงประกาศภายในสถานีและชั้นชานชาลาเพื่อแจ้งข้อมูลการบริการให้ผู้โดยสารได้รับรู้

– จัดให้มีป้ายบอกทางไปชั้นชานชาลาที่ระบุเส้นทางปลายทาง เพื่อให้ผู้โดยสารใช้บริการได้โดยไม่สับสน

– ซ่อมแซมบำรุงรักษาป้าย Directory เดิม ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และจัดให้มีป้าย Directory เพิ่มเติมภายในสถานี และชั้นชานชาลาทุกสถานี

– ปรับปรุงปัญหาจอภาพแสดงข้อมูลบริการภายในสถานีที่เบลอ มองเห็นไม่ชัด หรือแสดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วน

3. ปรับปรุงด้านระบบเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานี ได้แก่

– กำกับดูแลการใช้พื้นที่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารสำหรับรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ พื้นที่จอดรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารสาธารณะ อย่างเป็นระเบียบ ไม่ให้เกิดการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือการจอดรถกีดขวางพื้นที่ Drop-off โดยติดตั้งป้ายสัญลักษณ์ระบุจุดจอดรถยนต์แต่ละประเภทอย่างชัดเจน และให้เจ้าหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการจราจรให้เป็นระเบียบ

– ติดตั้งป้ายบอกทางไปสถานีจากถนนทางเข้าหลัก ในตำแหน่งที่เหมาะสม มีขนาดหรือรูปแบบที่เป็นมาตรฐานและเป็นเอกภาพ

– ประสาน ขบ. และ ขสมก. ในการจัดระบบขนส่งมวลชนขนาดรองเข้ารองรับการเดินทางเชื่อมต่อบริเวณสถานีต่างๆ โดยเฉพาะ สถานีหลักหก บางซ่อน บางบำหรุ และตลิ่งชัน ซึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องระบบขนส่งขนาดรองเชื่อมต่อสถานี และให้เร่งหารือกับ ขสมก. เพื่อพิจารณาการจัดรถโดยสารประจำทาง ขสมก. หรือ Shuttle Bus เข้าบริการประชาชน ณ สถานีกลางบางซื่อเป็นการถาวรและมีความยั่งยื่นต่อไป

4. เสนอให้มีการปรับปรุงด้านความปลอดภัย ได้แก่

– กำกับดูแล และเร่งปรับปรุงซ่อมแซมสภาพกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ชำรุด หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ภายในสถานีและบริเวณโดยรอบ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

– จัดให้มีระบบป้ายสัญลักษณ์ ป้ายเตือน ป้ายแนะนำ ที่เป็นไปตามมาตรฐาน และเป็นเอกภาพเหมือนกันทุกสถานี แก้ไขการใช้ป้ายสัญลักษณ์ทางออกฉุกเฉินไปใช้บอกทางผิดประเภท (สาย RW)

5. เสนอให้มีการปรับปรุงด้านการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน กรณีการแก้ไขปัญหาวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างเถื่อน และการบุกรุกหรือใช้พื้นที่ภายในสถานีอย่างผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้เป็นที่จอดรถของบุคคลภายนอก การใช้พื้นที่จอดแล้วจรเป็นตลาดนัดขายของกีดขวางทางสัญจร  โดยให้พิจารณาจัดระเบียบพื้นที่อย่างเคร่งครัด รวมทั้งการพิจารณาจ้าง Out source ในการกำกับความเป็นระเบียบและความปลอดภัยของพื้นที่ เป็นต้น

6. เสนอให้มีมาตรการบริหารจัดการขบวนรถไฟทางไกลที่เข้าให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อและการเยียวยาสำหรับผู้โดยสาร ได้แก่ การเสนอให้ผู้โดยสารสามารถใช้ตั๋วรถไฟทางไกล ขึ้นสายสีแดงฟรี 1 ครั้ง ทุกรอบทุกเที่ยว และสำหรับผู้โดยสารรถไฟชานเมือง ตามที่ รฟท. เสนอให้รถไฟชานเมืองใช้ทางวิ่งยกระดับ จึงเสนอให้ผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสามารถนำตั๋วรถไฟชานเมือง ขึ้นสายสีแดงได้ฟรี โดยกรณีขาเข้าเฉพาะช่วง 30 นาที หลังเวลาที่ระบุบนตั๋วรถไฟชานเมือง และในส่วนกรณีขาออกเฉพาะช่วง 30 นาที ก่อนเวลาที่ระบุบนตั๋วรถไฟชานเมือง นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดรถ Shuttle bus วิ่งบริการรับส่ง สถานีกรุงเทพ – บางซื่อ ความถี่ 15 นาที/เที่ยว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับผู้โดยสารที่มีตั๋วรถไฟทางไกลหรือรถไฟชานเมือง

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ไม่สามารถพิจารณาในบางประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลสถานะความคืบหน้าผลการดำเนินการจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อประกอบการพิจารณา คณะอนุกรรมการฯ จึงได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ดังนี้

• จัดทำแผนการจัดระบบหมุนเวียนผู้โดยสารภายในสถานีกลางบางซื่อ (Circulation)

• จัดทำแผนและรายงานสรุปสถานะการดำเนินการปรับปรุงห้องน้ำภายในขบวนรถให้เป็นระบบปิดที่สามารถกักเก็บสิ่งปฏิกูลได้ให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งต่อไป

• จัดทำแผนและรายงานสรุปสถานะการดำเนินการด้านการลดมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลที่มาจากหัวรถจักรบนชั้นชานชาลาสถานีกลางบางซื่อ

• จัดทำรายงานสรุปสถานะ/ผลการดำเนินการปรับปรุงระบบป้ายบอกทางภายในสถานีกลางบางซื่อ

• พิจารณาแนวทางการจัดจ้างผู้ประกอบการสำหรับการให้บริการรถวีลแชร์หรือรถขนสัมภาระภายในสถานีกลางบางซื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและลดปัญหาสูญหาย

• จัดทำแผนการดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับย้ายการบริการรถไฟเชิงพาณิชย์สายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือจากเดิมต้นทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาเป็นสถานีกลางบางซื่อ

• จัดทำแผนการเตรียมความพร้อมการปรับย้ายขบวนรถไฟเชิงพาณิชย์สายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือจากเดิมต้นทางที่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ย้ายมาเป็นสถานีกลางบางซื่อให้ชัดเจน ทั้งนี้ เสนอให้ รฟท. ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนที่ได้รับผลกระทบตามข้อ 6 ทุกครั้ง ในกรณีที่มีปรับย้ายการบริการรถไฟเชิงพาณิชย์ฯ และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

• จัดทำแผนการอำนวยความสะดวกการเดินทางเชื่อมต่อของประชาชน ณ สถานีกลางบางซื่อ อาทิ แผนการกำหนดมาตรการ/แนวทางการจัดการรถจักรยานยนต์รับจ้างบริเวณด้านหลังสถานี

คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำรายงานผลการประชุมเพื่อแจ้งคณะอนุกรรมการฯเพื่อรับรองรายงานฯ และสรุปผลการประชุมตลอดจนข้อเสนอแนะรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์