จุดตัดทางรถไฟสำคัญอย่างไร ?

ในแต่ละปีมีอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนยานพาหนะบริเวณ #จุดตัดทางถนนและทางรถไฟเสมอระดับ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียชีวิตและมีผู้บาดเจ็บรวมถึงทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการให้บริการเดินรถไฟที่ต้องเสียเวลาจากอุบัติเหตุดังกล่าวด้วย

จากสถิติที่ผ่านมาระหว่างปี 2558 – 2564 มีอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนยานพาหนะเกิดขึ้น 437 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 163 รายและผู้บาดเจ็บ 401 ราย โดยอุบัติเหตุส่วนมากเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางลักผ่านมากถึงร้อยละ 44 ซึ่งเกิดจากการเปิดจุดตัดด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่า #ทางลักผ่าน ซึ่งไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย และไม่ใช่ทางที่ถูกกฎหมาย ส่งผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง แต่ที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานในพื้นที่ไม่ได้ดำเนินการปิดหรือป้องกัน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนต่อต้านจากประชาชนหรือชุมชนใกล้เคียง สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนที่ใช้ทางลักผ่านนั้น รวมทั้งการฝ่าฝืนเครื่องกั้นหรือกฎจราจรที่นำมาซึ่งการเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน

จากการลงพื้นที่สำรวจจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ เมื่อปี 2564 พบว่า มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟทั่วประเทศ 2,975 จุด แบ่งเป็น #จุดตัดต่างระดับ (สะพานข้ามทางรถไฟ ทางลอดใต้ทางรถไฟ) 621 แห่ง และมี #จุดตัดที่ถูกยกเลิกไป 218 แห่ง คงเหลือ #จุดตัดเสมอระดับ (จุดตัดทางถนนและทางรถไฟ) 2,136 แห่ง ประกอบด้วย จุดตัดที่มีเครื่องกั้น 1,358 จุด (ใช้คนกั้น 413 แห่ง และเครื่องกั้นอัตโนมัติ 945 แห่ง) และจุดตัดประเภทป้ายจราจร 152 จุด นอกจากนี้ยังมี #ทางลักผ่าน (จุดข้ามทางรถไฟที่สร้างขึ้นในเขตทางรถไฟโดยไม่ได้รับอนุญาต) อีก 626 แห่ง

#กรมการขนส่งทางราง หรือ ขร. หน่วยงานที่กำกับดูแลงานด้านระบบขนส่งทางรางไทย ได้ดำเนินการโครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ร่วมกับ #กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน หรือ กปถ. โดยมีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจจุดตัดทางรถไฟทุกรูปแบบทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลลักษณะทางกายภาพ เพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลพร้อมระบบแผนที่สารสนเทศออนไลน์ จัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดโดยแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะสั้น ระยกลาง และระยะยาว โดยเสนอแนวทางการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบปรับปรุงจุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้มีมาตรฐาน โดยมีการจัดทำมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ และการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่การจราจรแต่ละพื้นที่

ขร. มีความห่วงใยทั้งผู้ใช้บริการรถไฟ และผู้ที่สัญจรบนถนนเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้จะมีส่วนในการช่วยลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุตามที่กล่าวมาข้างต้น และเพื่อให้ระบบขนส่งทางรางไทยมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์