ผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมการประชุมหารือ เกี่ยวกับ “โครงการเชื่อมต่อรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์”ณ สปป.ลาว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ร่วมการประชุมหารือ เกี่ยวกับ “โครงการเชื่อมต่อรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์” ณ สปป.ลาว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมหารือกับ นายเวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีโยธาธิการและขนส่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทร์ โดยมีองค์ประกอบคณะผู้แทนฝ่ายไทย ได้แก่ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกและประธานกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย นายนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อยอธิบดีกรมทางหลวงชนบท นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายปัญญา ชูพานิชผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งและแผนการขนส่งและจราจร นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนฝ่ายไทย และฝ่าย สปป.ลาว ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ณ โรงแรม Muong Thanh Luxury Vientiane Hotel สปป.ลาว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมร่วมกับกระทรวงโยธาธิการ และขนส่ง สปป.ลาวในครั้งนี้ เป็นการประชุมสำคัญที่ทั้งประเทศไทย และสปป.ลาว ได้เห็นซอบร่วมกันในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” เพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน และขอขอบคุณรัฐบาลลาวที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นสำหรับการเยือน สปป.ลาว ในครั้งนี้ถือเป็นการยืนยันคำหมายมั่นของประเทศไทยที่ต้องการจะส่งเสริมและสานต่อมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกันโดยทั้งสองประเทศต่างเป็น “บ้านใกล้เรือนเคียง” ที่ดี เป็นพี่เป็นน้อง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันและมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและคล้ายคลึงกัน ทั้งด้านภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน พร้อมกับกล่าวชื่นชมรัฐบาลลาวต่อการเปิดให้บริการโครงการรถไฟลาว – จีน ซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับคุนหมิง ที่จะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างลาวและจีนให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลไทยมีความตั้งใจที่จะทำให้การเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างหนองคายและเวียงจันทน์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งสองประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ อีกทั้งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนไทยกับประชาชนลาวให้แน่นแฟันยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันหารืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย นำผลการหารือไปปฏิบัติเพื่อให้การเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมมีความคืบหน้าและเกิดผลประโยชน์สูงสุดสุดร่วมกัน โดยเฉพาะการที่ไทยและลาวมีความสัมพันธ์ฉันท์บ้านพี่เมืองน้องของครอบครัวอาเซียน ควรประสานงานและร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อให้อาเซียนเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน และเชื่อว่าอาเซียนที่มีความเป็นปึกแผ่น จะเป็นอาเซียนที่มีพลังและสามารถมีบทบาทสำคัญ ในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคนี้ต่อไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจแห่งอนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและการค้า และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงการกำหนดกลไกในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส โดยเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยการคมนาคม และคณะร่วมหารือเกี่ยวกับโครงการเชื่อมต่อทางรถไฟ ช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ ณ สปป.ลาว โดยกระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟ ไทย – ลาว – จีน เพื่อรองรับการเดินทางและขนส่งระหว่างประเทศ และถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาคที่ยั่งยืน ที่จะสร้างโอกาสให้ทั้งสองประเทศในการส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยในขณะนี้ฝ่ายไทยได้มีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟเวียงจันทน์ ด้วยการพัฒนาสถานีรถไฟหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 1 ได้ โดยหวังว่าในการหารือร่วมกันในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสามารถหาข้อสรุปต่างๆ ร่วมกันได้
เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมร่วมกันระหว่างสองประเทศ จะมีความคืบหน้าและบรรลุเป้าหมาย ตามที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันเพื่ออนาคตลูกหลานของประชาชนทั้งสองประเทศให้อยู่ดีกินดี นำมาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนร่วมกันต่อไป

สำหรับการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน มีแผนการดำเนินการและรายละเอียด ดังนี้

  1. แผนการก่อสร้างของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายละเอียดดังนี้
    -โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ – นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าเปิดให้บริการปี 2569
  • โครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EA คาดว่าเปิดให้บริการปี 2571
  • โครงการรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น – หนองคาย ระยะทางประมาณ 167 กิโลเมตร สถานีทั้งหมด
    15 สถานี คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในปี 2565
  1. การบริหารจัดการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพาน
  • การบริหารจัดการสะพานเดิมระหว่างรอการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ โดยเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวม 14 ขบวน รองรับขบวนละ 25 แคร่ โดยกรมทางหลวง (ทล.) ทำการทดสอบการรับน้ำหนักรถไฟ ในระดับ U-20 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของสะพาน
  • การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่ ห่างประมาณ 30 เมตร มีทั้งทางรถไฟขนาดมาตรฐาน และทางขนาด 1 เมตร ปัจจุบันได้ข้อตกลงว่าฝ่ายไทยและฝ่ายลาวจะร่วมลงทุน ค่าใช้จ่ายร่วมกันในอาณาเขตของแต่ละฝ่าย โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการออกแบบสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ให้สามารถรองรับรถยนต์ด้วย ทล. ได้ปรับการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้
    ระยะที่ 1 การศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS Study) และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Initial Environmental Examination: IEE) ระยะที่ 2 งานออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และงานศึกษาทบทวนผลกระทบ สิ่งแวดล้อม (ELA) ซึ่งขณะนี้ ทล. ได้ประกาศร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR ) สำหรับการศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ
  1. การพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าแนวทางพัฒนาย่านขนถ่ายสินค้าของฝั่งไทย – ลาว เพื่อเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ แบ่งเป็น 2 ระยะ ดังนี้
  • ระยะเร่งด่วน : การพัฒนาย่านสถานีหนองคายเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายสินค้า การเตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน – ลาว โดยมีการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม โดยเพิ่มรถไฟจาก 4 ขบวนต่อวัน เป็น 14 ขบวนต่อวัน และเพิ่มจากขบวนละ 12 แคร่ เป็น 25 แคร่ โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดย รฟท. ได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้าเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กรมศุลกากรดำเนินการขอออกประกาศ ใช้พื้นที่บริเวณสถานีหนองคายเป็นพื้นที่ตรวจปล่อย จำนวน 46,800 ตารางเมตร โดย รฟท. อยู่ระหว่างพิจารณาแบ่งพื้นที่คงเหลือ จากการใช้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยออกเป็น 5 แปลง พื้นที่แปลงละ 11,200 ตารางเมตร เพื่อออกประกาศเชิญชวน จำนวน 4 แปลง และกันไว้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง 1 แปลง โดยจะกำหนดราคาค่าเช่าตามระเบียบต่อไป
  • ระยะยาว : การพัฒนาพื้นที่นาทาเพื่อเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า (เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต) พัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคาย ให้สามารถรองรับการขนส่งจากจีน – ลาว และส่งออกไปยัง สปป.ลาว ปัจจุบัน รฟท. อนุมัติให้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางรางจังหวัดหนองคาย โดยคาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จในปี 2565

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์