รประชุมสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง

5 กันยายน 2566 นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เข้าร่วมการประชุมสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โครงการศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งเป็นผู้กล่าวรายงาน โดยมีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิด พร้อมด้วยผู้บริหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องณ ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร

กระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการขนส่งอย่างยั่งยืน ลดปัญหาการจราจร และการมีโครงข่ายคมนาคมที่เข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ซึ่งการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เป็นหนึ่งในรูปแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ “สะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าถึงง่ายสำหรับคนทุกกลุ่ม” และเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ โดยในปัจจุบัน กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งมีการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบด้านการก่อสร้างร่วมกับทางฝ่ายจีน โดยเป็นความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างงานโยธา มีความคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 24 และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยบริษัทเอกชนผู้ร่วมลงทุนทำหน้าที่ทั้งการก่อสร้างและการบริหารจัดการเดินรถ

นอกเหนือจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้ว สิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งคือ การเตรียมการจัดตั้งองค์กรที่จะมาบริหารจัดการโครงการรถไฟความเร็วสูงนี้ และรวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงสายอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้พิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้ง “องค์กรพิเศษ” เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยกำหนดให้เป็นองค์กรอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสม สำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยไม่เป็นภาระผูกพันต่องบประมาณของรัฐ สามารถวางแผนและควบคุมให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ กระทรวงคมนาคม จึงดำเนินการศึกษาแนวทางและจัดทํารายละเอียดการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีขอบเขตของการดําเนินงาน ดังนี้

1.ศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรกํากับรถไฟ ความเร็วสูงที่ประสบความสําเร็จในต่างประเทศ

2.ศึกษาประเด็นข้อกฎหมายของประเทศไทย แนวทางการจัดตั้ง องค์กร แนวทางการระดมทุน รูปแบบโครงสร้างผู้ถือหุ้น และแนวทางการร่วมลงทุน

3.ศึกษาโครงสร้างธุรกิจและ โอกาสทางการตลาด

4.วิเคราะห์ผลตอบแทนด้านการเงิน (FIRR) ของโครงการรถไฟความเร็วสูง (รวมทุกเส้นทาง)

5.นําเสนอโครงสร้างขององค์กรและบุคลากร ขอบเขต อํานาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ 6.จัดทําแผนการจัดตั้ง องค์กรพิเศษ

7.จัดทําแผนการหารายได้จากธุรกิจเดินรถ และธุรกิจรอง

8.กําหนดเป้าหมายในการดําเนินงาน ทั้งใน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

9.กําหนดตัวชี้วัดเพื่อกํากับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดําเนินงาน

10.ดําเนินการประชาสัมพันธ์ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุน ถึงรูปแบบการจัดตั้ง องค์กรพิเศษ

สําหรับการจัดประชุมในวันนี้ เป็นการนําเสนอ ข้อมูล วัตถุประสงค์ของโครงการฯ พร้อมนําเสนอ แนวทางการพิจารณาและกําหนดรูปแบบความเป็นไปได้ขององค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินการโครงการรถไฟ ความเร็วสูงของประเทศไทย รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกํากับการดําเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง มีความเหมาะสม ลดภาระงบประมาณของรัฐได้ ซึ่งถือเป็นความมุ่งมั่น และตั้งใจจริงของกระทรวงคมนาคม ที่ต้องการเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาระบบด้านอุตสาหกรรมระบบรางของ ประเทศไทย

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์