“สุรพงษ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร

“สุรพงษ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมลงพื้นที่ตรวจความพร้อมการเปิดเดินรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดชุมพร

เมื่อวานนี้ (15 ธันวาคม 2566) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้บริหาร และผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ฯ ตรวจความพร้อมการเปิดให้บริการเดินรถไฟทางคู่สายใต้ในช่วงแรกระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 348 กิโลเมตร พร้อมปรับตารางเวลาเดินรถใหม่ 60 ขบวน เวลาการเดินทางลดลง 1.30 ชั่วโมง เริ่มแล้วเมื่อวานนี้ 15 ธันวาคม 2566

นายสุรพงษ์ฯ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วนในเส้นทางสายใต้ ให้สามารถเปิดให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่พี่น้องประชาชนได้โดยเร็ว ซึ่งเมื่อวันที่ 11 – 14 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รฟท. ได้ทดลองเปิดให้บริการเดินรถโดยวิธีทางคู่ชั่วคราว และงดจัดหลีกขบวน (ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดิมไปพลางก่อน) โดยเดินรถตามกำหนดเวลาเดินรถเดิม ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ สามารถรองรับขบวนรถได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางเสมอระดับรถไฟ – รถยนต์ ยกเลิกทางข้ามเสมอระดับทางรถไฟ และเปิดใช้สะพานกลับรถ (U-Turn) สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) สำหรับในระยะต่อไป จะเปิดเดินรถทางคู่ช่วงสถานีนครปฐม – สถานีบ้านคูบัว ระยะทาง 58 กิโลเมตร และช่วงสถานีสะพลี – สถานีชุมพร ระยะทาง 14 กิโลเมตร ภายในเดือนเมษายน 2567

นายสุรพงษ์ฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานีชุมพร สถานีปลายทางของเส้นทางรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร เพื่อติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างทางคู่สายใต้ และรับฟังรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการสำคัญ ดังนี้

โครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ระยะที่ 2 จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย

1) ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กิโลเมตร

2) ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ระยะทาง 321 กิโลเมตร

3) ช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ทั้ง 3 โครงการ ได้ศึกษาความเหมาะสมโครงการ (Feasibility Study) ออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างเตรียมการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการต่อคณะรัฐมนตรี โดยจะเสนอขออนุมัติช่วงชุมทางหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ เป็นลำดับแรก

แผนเชื่อมต่อกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) โดยการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าเชื่อมโยงท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนองด้วยทางรถไฟและทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาโครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับประตูการค้าภาคใต้ เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง ยุโรป เพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

แผนพัฒนาทางรถไฟเชื่อมนิคมอุตสาหกรรม โดยการก่อสร้างย่านสถานีบริเวณจุดเชื่อมต่อประแจและทางแยกสถานีนาผักขวง โครงการ SSI’s Distribution Hub (ด้านเหนือ) และโครงการ SSI’s Logistic Terminal (ด้านใต้) ระยะทาง 2.138 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงระบบการขนส่งทางรางสู่อุตสาหกรรมเหล็ก และท่าเรือน้ำลึก ลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ทั้งอุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอื่น ๆ และช่วยลดปัญหาจราจรการขนส่งทางบกในพื้นที่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมต่อนิคมอุตสาหกรรม ระยะเร่งด่วน (พ.ศ. 2566 – 2570) ตามที่กรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินโครงการศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-MAP) ทั้งนี้ ปัจจุบันการพัฒนาทางรถไฟเชื่อมเขตนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าว อยู่ระหว่างเอกชนพิจารณาศึกษาความเหมาะสม

จากนั้น นายสุรพงษ์ฯ ได้นั่งรถไฟขบวนพิเศษออกจากสถานีชุมพรมุ่งหน้าสถานีสวนสนประดิพัทธ์ ขบวนรถทำความเร็วอยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อทดลองเดินรถในเส้นทางรถไฟทางคู่ที่เพิ่งเปิดใช้งาน โดยระหว่างการเดินทางเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมสำหรับเปิดเดินทางไฟทางคู่ให้บริการประชาชน

สถานีสวนสนประดิพัทธ์ ปัจจุบันบริเวณใกล้สถานีได้ปิดจุดตัดทางรถไฟกับถนนเสมอระดับแล้ว โดยให้ยานพาหนะใช้สะพานกลับรถด้านทิศใต้ของจุดตัดเดิมในการสัญจร ส่วนบริเวณทางลอดข้ามชานชาลาสำหรับผู้พิการ ปัจจุบันพบว่า มีรถจักรยานยนต์มาใช้งาน ซึ่งอาจเกิดความไม่ปลอดภัยแก่คนเดินเท้า จึงแนะนำให้ รฟท. ปรับปรุงงานทางกายภาพ และติดตั้งป้ายให้ใช้เฉพาะคนเดินเท้าและรถวีลแชร์เท่านั้น และให้รถจักรยานยนต์ไปใช้สะพานกลับรถแทน ควบคู่กับการจัดเจ้าหน้าที่กำชับและประชาสัมพันธ์ในช่วงแรก เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและเพื่อความปลอดภัยแก่คนเดินเท้าที่สัญจร โดย ขร. ได้ขอให้ รฟท.พิจารณาปรับปรุงรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างชานชาลาฝั่งขาล่องกับชายหาดสวนสนประดิพัทธ์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการระบบรางได้รับความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งปรับรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างชานชาลาฝั่งขาขึ้นและฝั่งขาล่อง ในรูปแบบทางต่างระดับ เช่น สะพานเดินข้ามหรือทางลอดใต้ทางรถไฟบริเวณใกล้ตัวอาคารจำหน่ายตั๋วโดยสารแทน เพื่อลดความเสี่ยงขบวนรถไฟชนคนเดินเท้าในย่านสถานีรถไฟ

ต่อมา นายสุรพงษ์ฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดใช้อาคารสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ซึ่งเป็นสถานีบนทางยกระดับ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสถานีเดิม ห่างจากสถานีเดิมเพียง 30 – 40 เมตรเท่านั้น โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการเพียงบางส่วน บริเวณจุดจำหน่ายตั๋วและจุดพักคอยชั้น 1 ในส่วนที่ใช้สัญจร และชั้นชานชาลา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานและบริหารจัดการโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพรได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยร่วมกับเจ้าหน้าที่ รฟท. ก่อนเปิดใช้งานด้วยแล้ว สำหรับพื้นที่ที่เหลือบริเวณชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นใต้ดิน คาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนในการเก็บงาน และตรวจสอบความปลอดภัยก่อนเปิดใช้งานต่อไป

อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่พบว่า ไฟส่องสว่างบริเวณโถงพักคอย ชั้น 1 มีบางจุดที่ยังสว่างไม่เพียงพอ และบันไดเลื่อนยังไม่เปิดให้บริการ ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ประมาณเดือนมกราคม 2567 โดยได้กำชับให้ รฟท. และผู้รับจ้างเร่งปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ยังไม่เรียบร้อย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ เมื่อเปิดใช้สถานีหัวหินแห่งใหม่ ขบวนรถไฟทุกขบวนทั้งรถโดยสารและรถสินค้าจะเดินรถบนทางยกระดับทั้งหมด ส่วนทางรถไฟเดิมจะยังเก็บไว้ ไม่รื้อออก ไว้สำหรับใช้งานสำรองในกรณีฉุกเฉิน

ทั้งนี้ การเดินทางจากสถานีหัวหิน – สถานีชุมพร ระยะทาง 251 กิโลเมตร พบว่าใช้ระยะเวลาในการเดินทางเร็วสุดเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งภายหลังจากการเปิดเดินรถไฟแบบทางคู่ ที่ใช้ระบบทางสะดวกแบบ E-Token จะทำให้สามารถประหยัดเวลาการเดินทางลงได้ 1-2 ชั่วโมง ทั้งนี้ ได้กำชับให้ รฟท. และผู้รับจ้างเร่งดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่เหลือเพื่อเปิดใช้งานทางคู่เพิ่มเติมต่อไป รวมทั้งดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณให้แล้วเสร็จตามแผนงานเพื่อให้สามารถเปิดบริการเดินรถไฟทางคู่แบบเต็มรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินรถ ประชาชนสามารถเดินทางในระบบรางได้สะดวก รวดเร็วขึ้นต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์