กรมการขนส่งทางราง ลงพื้นที่ติดตามรถไฟทางคู่สายใต้ และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมดูงานโรงผลิตชิ้นส่วนระบบราง

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ขร. เดินทางด้วยรถไฟขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 43 (กรุงเทพ – สุราษฎร์ธานี) เพื่อติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร และร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการก่อสร้างสะพานทางข้ามทางรถไฟและจุดตัดรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 โดยมี ดร.อรรถพล เก่าประเสริฐ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการก่อสร้าง ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างพร้อมเจ้าหน้าที่ รฟท. และผู้รับจ้างงานก่อสร้างรถไฟทางคู่ให้การต้อนรับและร่วมหารือ

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วง (นครปฐม-ชุมพร) นี้ได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงนครปฐม – หัวหิน (สัญญาที่ 1 ระยะทาง 93 กม. มีความคืบหน้าแล้ว 83.915%) (สัญญาที่ 2 ระยะทาง 76 กม. มีความคืบหน้าแล้ว 83.135%) 2.ช่วงหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ (สัญญาที่ 3 ระยะทาง 84 กม. มีความคืบหน้าแล้ว 83.695%) และ 3.ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร (สัญญาที่ 4 ระยะทาง 88 กม. มีความคืบหน้าแล้ว 76.193%) (สัญญาที่ 5 ระยะทาง 79 กม. มีความคืบหน้าแล้ว 68.256%) ซึ่งโครงการดังกล่าวมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2565 และจากกรณีปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการก่อสร้างสะพานทางข้ามทางรถไฟและจุดตัดรถไฟทางคู่ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจร ซึ่ง การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาการน้ำท่วมจากทางลอดใต้ทางรถไฟ จึงเปลี่ยนเป็นสะพานกลับรถขนาดเล็ก ในเขตทางรถไฟเพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนในพื้นที่

จากนั้นได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมการประกอบโบกี้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ (บทต.) ต้นแบบ ที่บริษัท เวสท์โคสท์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อกำหนดแนวทางในการศึกษา วิจัยและพัฒนาต่อยอดและผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมระบบรางภายในประเทศ และการใช้ local content อย่างยั่งยืนต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กรมการขนส่งทางราง

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์