กรมการขนส่งทางราง หารือเร่งแก้ปัญหาระบบรางเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาในประเด็นเร่งด่วนต่าง ๆ รอบเดือนพฤศจิกายน 2566

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 4/2566 ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริกาาระบบรางที่เกี่ยวข้อง โดยในที่ประชุมฯ ได้มีการหารือประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบขนส่งทางรางที่มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมทั้งแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

รายงานสถิติเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน โดยในเดือนตุลาคม มีเหตุขัดข้อง ทั้งหมด 6 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบชับเคลื่อน 2 ครั้ง ระบบเบรก 2 ครั้ง และจุดสับราง 2 ครั้ง และในเดือนพฤศจิกายน (ตั้งแต่วันที่1-20 พบเหตุขัดข้อง 12 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบขับเคลื่อน 3 ครั้ง ระบบเบรก 4 ครั้ง ระบบประตูรถ 1 ครั้ง จุดสับราง 2 ครั้ง ระบบอาณัติสัญญาณ 1 ครั้ง และอื่น ๆ 1 ครั้ง

โดยที่ประชุมฯ ได้มีการหารือถึงแนวทางและมาตรการเยียวยาเหตุขัดข้องที่มีผลกระทบต่อความล่าช้าในการให้บริการประชาชน โดยพิจารณากรณีตัวอย่างของเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้าแอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 เวลา 8.13 น. และ 20 พฤศจิกายน 2566 เวลา 8.13 น. ซึ่งส่งผลต่อความล่าช้าในการให้บริการผู้โดยสารมากกว่า 30 นาที ซึ่งสาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ Door control Unit (DCU) และ Current Sensor เกิดการขัดข้อง โดยที่ประชุมฯ มอบหมายให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด และ ขร. ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการการเยียวยาสำหรับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าดังกล่าวให้มีความเหมาะสม และรายงานผลให้ที่ประชุมฯ ทราบในคราวประชุมครั้งถัดไป

นอกจากนี้ ในที่ประชุมฯ ได้พิจารณาผลการแก้ไขปัญหาการตัดสายไฟของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง โดยหลังจากที่ รฟท. ดำเนินการติดตั้งระบบ CCTV เพื่อตรวจจับผู้บุกรุกบริเวณทางขึ้นลงที่สถานีดอนเมืองและสถานีรังสิต ควบคู่กับมาตรการการลาดตระเวนของ รฟฟท. แล้ว พบว่าไม่มีปัญหาการลักลอบตัดสายไฟของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเกิดขึ้นอีก ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ขอให้ รฟท. และ รฟฟท. พิจารณาดำเนินการเทคอนกรีตปิดทับฝาเปิดของรางสายไฟคอนกรีต (Concrete Cable Duct) และการติดตั้งระบบ CCTV เพื่อตรวจจับผู้บุกรุกเพิ่มเติมในบริเวณที่เป็นทางระดับดิน ควบกับการจัดชุดลาดตระเวนเพื่อป้องปราม และนำรูปแบบ Concrete Cable Duct ดังกล่าว ไปใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย เพื่อป้องกันการขโมยสายไฟในอนาคต

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาระบบปรับอากาศภายในขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ได้กำหนดการแก้ไขปัญหาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ระยะเบื้องต้น – ดำเนินการซ่อมบำรุงตามวาระ ระยะกลาง – กำหนดให้มีการ Overhaul และปรับเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ และระยะยาว – กำหนดให้มีการติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ และติดตั้ง Inverter พัดลม ซึ่งปัจจุบันดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะเบื้องต้นและระยะกลางแล้วเสร็จ ผลการตรวจวัดอุณหภูมิครั้งล่าสุดเปรียบเทียบกับมาตรฐานระบบปรับอากาศรถขนส่งทางรางในเมืองและชานเมือง (มขร. – R – 004 – 2566) พบว่าอุณหภูมิภายในขบวนรถช่วงเช้า วัดค่าได้ 25.0 – 27.8 ºC ซึ่งยังสูงกว่าค่าที่แนะนำตามมาตรฐาน 24.5ºC (ณ อุณหภูมิภายนอก 28.2ºC) และอุณหภูมิภายในขบวนรถช่วงเย็น วัดค่าได้ 26.4 – 28.2ºC มีค่าสูงกว่าค่าที่แนะนำตามมาตรฐาน 25.7ºC (ณ อุณหภูมิภายนอก 31.6ºC) โดยทีประชุมฯ ขอให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนระยะยาวที่จะดำเนินการติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่เพื่อให้สามารถปรับตั้งอุณหภูมิภายในขบวนรถไฟที่เหมาะสมกับอุณหภูมิภายนอกได้ และการติดตั้ง Inverter ใหม่ให้สามารถปรับความเร็วรอบของพัดลมเพื่อเพิ่มปริมาณลมเย็นมากขึ้นในอนาคตต่อไป

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์