กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ กปถ. จัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 3 พื้นที่ภาคใต้ (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

วันนี้ (11 มี.ค. 65) เวลา 09.00 น. ณ ห้องเทพลักษณ์ เอ โรงแรมเคพาร์ค แกรนด์ จังหวัดสุราษฎ์ธานี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 3 โครงการศึกษา เพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ โดยมีนายประเวศ ไทยประยูร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้การต้อนรับ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางราง และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจุดตัด และจัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึกบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการขยายตัวของเมืองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีความต้องการในการเดินทาง และปริมาณการจราจรเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเป็นคมนาคมขนส่งหลักในการเดินทาง ทำให้เกิดปัญหาการจราจร ปัญหามลภาวะ ตลอดจนปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยจากข้อมูลอุบัติเหตุ 3 ฐานข้อมูล ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน พบว่า ในปี 2563 ถึงแม้จะอยู่ในช่วง Covid-19 ประเทศไทย ยังมีอัตราผู้เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 17,831 คนต่อปี อีกทั้งยังมีผู้บาดเจ็บและผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการดูแลผู้บาดเจ็บและผู้พิการดังกล่าวซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายมุ่งเน้นให้ความสำคัญในการลดอุบัติเหตุดังกล่าว โดยการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง โดยได้เร่งปรับปรุงโครงข่าย ทางรถไฟในปัจจุบัน พัฒนารถไฟทางคู่ ก่อสร้างรถไฟสายใหม่ รวมทั้งรถไฟความเร็วสูง เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางรางที่มีความปลอดภัยให้เป็นระบบขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้าหลักของประเทศ เพื่อลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนน แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ลดปัญหามลภาวะทางเสียงและอากาศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ดร.พิเชฐฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทางรถไฟผ่านพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าชนะ อำเภอไชยา อำเภอท่าฉาง อำเภอพุนพิน อำเภอบ้านนาเดิม อำเภอบ้านนาสาร อำเภอเวียงสระ และอำเภอคีรีรัฐนิคม มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 153 จุด แบ่งเป็น สายประธานในเส้นทางชุมทางบางซื่อ – สุไหงโกลก จำนวน 125 จุด และสายแยกชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ – คีรีรัฐนิคม จำนวน 28 จุด โดยปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว 7 จุดคงเหลือ 146 แห่ง ประกอบด้วย จุดตัดต่างระดับ 17 จุด และจุดตัดเสมอระดับ 129 จุด ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 36 จุด มีป้ายจราจรแจ้งเตือน 13 จุด และมีทางลักผ่านมากถึง 80 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 54.80 ของจุดตัดทางรถไฟในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยอนาคตเมื่อมีโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี และโครงการรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี – ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา จุดตัดทางรถไฟต่างๆ บนทางสายประธานจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นจุดตัดต่างระดับทั้งหมด ส่วนที่เป็นเส้นทางสายแยกในช่วงชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ – คีรีรัฐนิคม ซึ่งยังคงมีจุดตัดทางลักผ่าน 24 จุด จะดำเนินการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณจุดตัดหรือยกเลิกจุดตัดที่ไม่จำเป็นและนำไปรวมใช้จุดตัดที่อยู่ใกล้เคียงแทน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการฯ ได้ที่ https://drtcrossing.com/ หรือแฟนเพจ https://www.facebook.com/DRT.Crossing โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

หน่วยงานที่ประกาศ

กลุ่มประชาสัมพันธ์

เรื่องอื่นๆในหมวดหมู่ข่าวประชาสัมพันธ์

Skip to content